ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลกคาดการณ์ 3 เปลี่ยนแปลงสำคัญ ทั้งกับผู้พัฒนา
ร้านค้าปลีก แบรนด์ และพฤติกรรมผู้บริโภค หลังโควิด-19 ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ของเจ้าของพื้นที่กับผู้เช่า Social Distancing กดดันให้รูปแบบร้านค้าเปลี่ยนไป และพฤติกรรมผู้บริโภคทำให้อีคอมเมิร์ซมีบทบาทมากขึ้น
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดความท้าทายมากมายหลายประการกับทุกธุรกิจ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ทุกกิจการต่างรอคอยการกลับมาดำเนินงาน ด้วยแผนธุรกิจที่มีการปรับเปลี่ยนใหม่สำหรับไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปี 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดพื้นที่ค้าปลีก และแบรนด์ต่างๆ
จริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า ซีบีอาร์อี คาดการณ์ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญใน 3 ส่วนหลัก คือ เจ้าของพื้นที่ค้าปลีกหรือผู้พัฒนาโครงการ ร้านค้าปลีกหรือแบรนด์ และพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไป ประกอบด้วย
1. เกิดการคิดราคาค่าเช่าแบบพันธมิตร (Partnership Rent)
ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของพื้นที่ค้าปลีกกับร้านค้าซึ่งเป็นผู้เช่าจะเปลี่ยนแปลงไป โดยความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายจะชัดเจนมากกว่าเดิม เพื่อให้กิจการดำเนินต่อไปได้ทั้งสองฝ่าย การคิดราคาค่าเช่าจะเปลี่ยนเป็นแบบพันธมิตร (Partnership Rent) หรืออาจเป็นการคิดค่าเช่าจากการแบ่งรายได้ พร้อมรับประกันยอดขายขั้นต่ำ มากกว่าการจ่ายค่าเช่ารูปแบบเดิมที่กำหนดค่าเช่าแบบคงที่ ตลอดจนยืดหยุ่นเงื่อนไขการเช่าต่างๆ ขึ้นอยู่กับประเภทของกิจการ ทำให้การปล่อยเช่าพื้นที่ซับซ้อนมากขึ้น แต่จะเป็นวิธีสมเหตุสมผลในยุค New Normal
หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า ในอดีต ผู้เช่าและเจ้าของพื้นที่ค้าปลีกส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการเก็บค่าเช่าแบบคงที่ ซึ่งเจ้าของพื้นที่คาดการณ์รายรับจากค่าเช่าได้ ขณะที่ผู้เช่าไม่ได้เปิดเผยยอดซื้อขายและรายได้ต่อเดือนให้แก่เจ้าของพื้นที่ แต่การแพร่ระบาดของไวรัสเผยให้เห็นถึงข้อเสียของวิธีนี้ในวันที่ต้องแบกรับภาระค่าเช่าเมื่อลูกค้าหายไป ทำให้ต้องเจรจาเพื่อขอต่อรองและมาตรการเยียวยาจากเจ้าของพื้นที่
2.. ลดพื้นที่การค้า เป็นผลจากการต้องรักษาระยะห่างทางสังคม
สำหรับผู้พัฒนาพื้นที่ค้าปลีก การเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยต่อสถานที่ การสร้างบรรยากาศ และเรียกความสนใจของลูกค้าให้กลับคืนมา เนื่องจากการรักษาระยะห่างทางสังคมจะเป็นมาตรฐานใหม่
จริยา ถ้ำตรงกิจกุล ยกตัวอย่างว่า ผู้พัฒนาอาจเปลี่ยนแปลงพื้นที่เป็นศูนย์การค้ากึ่งในร่มและกลางแจ้งที่ลูกค้าสามารถเพลิดเพลินกับอากาศบริสุทธิ์ พื้นที่ชั่วคราวที่จัดขึ้นสำหรับร้านแบบป๊อปอัพ หรือรูปแบบโครงการค้าปลีกที่แปลกใหม่ และพื้นที่สันทนาการเพิ่มเติม เช่น พื้นที่สีเขียว ที่นั่งกลางแจ้ง พื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง พื้นที่หอประชุม พื้นที่บนดาดฟ้า และลู่วิ่งจ๊อกกิ้ง สถานที่น่าสนใจใหม่ๆ เช่นนี้ และสถานที่รูปแบบใหม่ในห้างสรรพสินค้าจะเริ่มเกิดขึ้นเพื่อให้ลูกค้า รู้สึกถึงความปลอดภัยและมีส่วนร่วมมากขึ้นในการสร้างประสบการณ์การช็อปปิ้งที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร
นอกจากนี้ ซีบีอาร์อียังเชื่อว่าสุขอนามัยและความสะอาดจะเป็นหนึ่งในหลักการออกแบบโครงการค้าปลีก รวมทั้งเทคโนโลยีระบบไร้สัมผัสที่ช่วยลดการสัมผัสพื้นผิว เช่น สุขภัณฑ์แบบอัตโนมัติ เซ็นเซอร์ประตูทางเข้า ที่จอดรถอัตโนมัติ จะถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างต่อเนื่อง