ชุดหมี (Coverall) และชุดกาวน์ (Medical Gown)
ช่วยป้องกันผู้สวมใส่จากของเหลวหรือของแข็งที่ติดเชื้อ รวมถึงการซึมผ่านของสารเคมีและเชื้อโรคต่าง ๆ ตั้งแต่ศีรษะและลำตัวไปจนถึงข้อมือและข้อเท้า ชุดหมีทำจากเส้นใยพลาสติกประเภทพอลิโพรพิลีน (PP) และเคลือบด้วยสารกันน้ำ จึงกันน้ำ และระบายอากาศได้ ส่วนชุดกาวน์ซึ่งใช้สวมทับชุดหมีนั้น ทำจากพลาสติกพอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำเชิงเส้น (LLDPE) ที่มีเนื้อนิ่มแต่เหนียว ชุดจึงแนบไปกับลำตัวโดยไม่พอง และไม่มีเสียงก๊อบแก๊บเวลาขยับตัว อีกทั้งยังสามารถระบายอากาศได้ดีอีกด้วย
เมื่อใช้งานอุปกรณ์ PPE เหล่านี้เสร็จแล้ว จะต้องมีการถอดอย่างถูกวิธี เพื่อเลี่ยงการสัมผัสเชื้อ และจะต้องนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งอุปกรณ์ส่วนมากจะเป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จึงจำเป็นต้องมีสำรองไว้ใช้ในโรงพยาบาลให้มากพอกับความต้องการที่อาจเพิ่มขึ้นตามปริมาณผู้ติดเชื้อ
ในประเทศไทย มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อไปแล้วถึง 103 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 เมษายน 2563) ซึ่งเป็นการติดเชื้อจากการดูแลรักษาผู้ป่วยถึง 28 คน และอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถระบุสาเหตุและที่มาของการติดเชื้อได้ หรือการที่ต้องสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวในขณะที่ไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกันอย่างเต็มยศ
นวัตกรรมช่วยดูแลแพทย์ ในวันที่แพทย์ดูแลเรา
ด้วยตระหนักถึงอันตราย ความยากลำบาก และความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี จึงมีแนวคิดที่จะสร้างเกราะคุ้มกันให้บุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัยจากการติดเชื้อ โดยนำความเชี่ยวชาญทั้งในด้านวัสดุพลาสติก วิศวกรรมศาสตร์ และการออกแบบนวัตกรรม ผสมผสานกับความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของทีมแพทย์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเน้นไปที่การป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อจากผู้ป่วย และทำให้นวัตกรรมนี้สามารถเข้าถึงได้ในทุกพื้นที่แม้ในที่ห่างไกล จึงเป็นที่มาของ “นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ หรือ Mobile Isolation Unit” ที่นอกเหนือจากความสะดวกในการขนส่ง ติดตั้งง่าย น้ำหนักเบาแล้ว ยังช่วยลดภาระในการจัดหาและสวมใส่ PPE ได้เป็นจำนวนมาก แพทย์สามารถทำงานได้อย่างอุ่นใจและคล่องตัว แม้ต้องเผชิญหน้ากับศึกใหญ่
“อุ่นใจ” แม้ต้องสัมผัสผู้ป่วย
ในขั้นตอนการตรวจคัดกรองโรค บุคลากรทางการแพทย์มีโอกาสได้รับเชื้อผ่านการทำหัตถการ (Swab) เอสซีจีจึงได้ออกแบบนวัตกรรม “ห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ (Negative/Positive Pressure Isolation Chamber)” เพื่อแยกบุคลากรทางการแพทย์ออกจากคนไข้ โดยมีลักษณะเป็นทรงกระบอกขนาดเล็กสำหรับคน 1 คน มีช่องให้สอดมือเพื่อตรวจคนไข้ได้อย่างสะดวก สามารถมองเห็นและติดต่อสื่อสารกันได้ เช่นเดียวกันกับ “ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ (Negative Pressure Isolation Room)” ที่มีลักษณะคล้ายเต็นท์ เหมาะสำหรับจัดวางในพื้นที่ที่ต้องการควบคุมการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค เช่น ห้องฉุกเฉิน ห้องไอซียู และห้องพักผู้ป่วยทั่วไป ออกแบบให้ติดตั้งรื้อถอนได้ง่าย สามารถเปลี่ยนที่ติดตั้งได้ตามต้องการ เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อที่อาจเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว