5.ค่านิยมเชิงสังคมกับบททดสอบมหภาค (Social Values)
ถามว่าสังคมของเราเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมขนาดไหน ผมคิดว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงแทบจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเราซักเท่าไหร่ เอาเข้าจริง ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระดับบุคคลด้วยซ้ำ ค่านิยมใหม่ที่เกิดขึ้นจึงไม่ถูกให้ความสำคัญจนกระทั่งวันที่สังคมและพวกเราทุกคนโดนทดสอบ
จะบอกว่ามนุษย์มีความเป็นปัจเจกมากขึ้นก็คงจะไม่ผิด เรามีวิธีคิดในแบบของเรา เชื่อในแบบของเรา ทำในแบบของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ไม่เป็นผลดีต่อการบริหารจัดการมหภาคในสภาวะวิกฤต ซึ่งต้องการผู้ฟังที่ดีและผู้ตามที่ดี ในขณะที่ค่านิยมใหม่ในสังคม ทุกคนมีสิทธิ์และมีเสียงในการพูด COVID-19 เป็นเครื่องพิสูจน์สถานการณ์นี้เป็นอย่างดี
ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง และความเป็นจริง คือ ระบบสาธารณสุขไม่มีทางรองรับทุกคนได้
ก็น่าสนใจว่า นับจากนี้ หากเกิดปัญหาลักษณะนี้ขึ้นอีก เราจะขับเคลื่อนในเชิงสังคมได้อย่างไร ในวันที่ความเป็นสังคมนั้น ไม่ได้มีอยู่จริงอีกต่อไป ทุกคนแค่อาศัยอยู่ในสังคมเดียวกันแบบต่างคนต่างอยู่ นี่คือโลกอีกแบบที่มันไม่ได้เดินไปในทางเดียวกันเหมือนแต่ก่อน
6.กลับสู่การดำรงชีวิตแบบนอกระบบ (Off Grid)
การดำรงชีวิตอยู่ภายใต้สภาวะพึ่งพาก็กำลังถูกทดสอบเช่นกัน ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยในสังคมมนุษย์ ที่พวกเราจะต้องดำรงอยู่ได้โดยพึ่งพาตัวเอง (สมัยปู่ย่าเราก็ชัดเจน) แต่ความสะดวกสบายที่เกิดขึ้นจากโลกธุรกิจและเทคโนโลยีทำให้เราห่างหายจากการพึ่งพาตนเอง จนแทบจะเรียกได้ว่ามา พึ่งพาระบบโดยสมบูรณ์แบบ (On Grid)
เรากินข้าวนอกบ้าน
ส่งลูกไปโรงเรียน
พึ่งพาไฟฟ้า
พึ่งพายานพาหนะ
พึ่งพาเครื่องมือที่ช่วยในการทำงาน
ใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัย (แต่ซ่อมเองไม่ได้)
แม้กระทั่งการซักผ้าเรายังต้องพึ่งพาระบบ
การพึ่งพาระบบก่อให้เกิดปัญหา 2 อย่าง อย่างแรก คือ ความกลัวต่อระบบล่ม และสอง ความไม่สามารถพึงพาตนเองได้ ทั้ง 2 สิ่งนี้จะเห็นได้ชัดในช่วงที่เกิดวิกฤตต่าง ๆ
COVID-19 เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ทำให้เราเห็นปัญหาดังกล่าวชัดเจนขึ้น เมื่อต้องออกมาใช้ชีวิตแบบ Off Grid เราจึงเริ่ม
กลัวที่จะไม่มีของอุปโภคบริโภค
กลัวที่จะไม่ได้เดินทางไปไหนมาไหน
กลัวที่จะดำรงอยู่ไม่ได้โดยไม่มีสิ่งเหล่านี้เหล่านั้น
กลัวจะต้องตัดขาดจากโลกภายนอก
และท้ายที่สุด ความกลัวนี่แหละครับที่นำไปสู่ปัญหาที่แท้จริง เพราะเมื่อผู้คนกลัว การแย่งชิงทรัพยากรจะเกิดขึ้น เมื่อถึงเวลานั้น กลไกการตลาดจะทำงานด้วยตัวมันเอง มองในมิติของสินค้า ถ้าสินค้าหมด ผู้คนจะยิ่งอยากได้ ถ้าสินค้าไม่หมด มันก็จะถูกผลักดันให้ราคาสูงจนมีแค่บางกลุ่มคนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึง
การเรียนรู้ที่จะอยู่ให้ได้ทั้งในโลก Off Grid และ On Grid จึงเป็นเรื่องสำคัญ และมันเป็นพฤติกรรมใหม่ที่เราควรจะมีในโลกที่ไม่คุ้นเคย