เส้นทางระหว่าง A ไป B นี้ มีทางลัดไหม ? ทีมงานสงสัย
“ผมว่าทุกวันนี้หลายองค์กรพยายามหาทางลัดมาตลอด หลายองค์กรที่ทำแบบ Cosmetic แสดงว่าเราเห็นแล้วว่ามันมาแล้วแน่ๆ แล้วเราก็พยายามหาช่องทางที่มาตอบสนองให้เร็วที่สุด เพราะว่าเราอาจจะไม่เคยคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังมาก่อน เพราะฉะนั้นเรากำลังพูดถึงชอร์ตคัทที่ใช้ไปในในแง่ของการประชาสัมพันธ์ กับชอร์ตคัทที่ทำให้เกิดผลลัทธ์ ในแง่ของงาน PR วันนี้ถ้าเราไปออดิทบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็ทำกันทุกบริษัท แต่คนจะเชื่อขนาดไหนไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้คนเชื่อ เพราะตอนนี้มีกระแสเต็มไปหมดทำให้คนทั่วไปต้องมาวิเคราะห์ว่าอะไรจริงไม่จริง ซึ่งตรงนี้จะทำให้พวก Cosmetic อยู่ไม่ได้ต้องทำแบบจริงจัง
ถ้าเราจะทำ 20 ปี เรามามองว่า 2 ปี เราจะทำให้เห็นผลอย่างไร มันก็มีขั้นตอนว่าต้องกลับมาดูที่ธุรกิจของตัวเองก่อนว่า ธุรกิจของเราสร้างสิ่งที่เรียกว่า Negative Impact อย่างไรบ้าง ก็พยายามหาทางลดตรงนั้นก่อน อันนี้คือ ระดับที่เรียกว่าความรับผิดชอบ ต่อมาก็เริ่มมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะทำให้มันเกิดผลลัพธ์ 2 ทาง ทาง 1. คือทำไปแล้วเกิดประโยชน์กับ People, Planet ทางที่ 2 คือ เกิดรายได้ทางธุรกิจ”
เมื่อเป็นเช่นนนี้แล้วแบรนด์ที่มี Negative Impact ทางอ้อม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล ควรวางตัวอย่างไร
กับเรื่องนี้ในฐานะที่ปรึกษาเรื่องการสร้างแบรนด์ คุณปิยะชาติยอมรับว่า ถ้าตัวตนของธุรกิจเป็นอะไรที่สร้าง Negative Impact แน่นอนว่าเป็นอะไรที่ทำยากกว่าสินค้าทั่วไปจริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า Negative Impact นั้นจะลบไปในทุกมิติ
“เราพูดว่าวันนี้เป็นเทรนด์ของอาหารคลีน แต่ก็ยังมีคนเกินครึ่งของตลาดที่กินอาหารทั่วไป แต่อาหารคลีนมันเข้ามาตอบโจทย์คนที่ไม่มีทางเลือกก่อนหน้านี้ สุดท้ายมันคือความสมดุล ดีที่สุดเลยคือไม่กินน้ำตาลเหรอ ไม่ใช่ แต่เรากินเยอะ เราก็ต้องจัดการตัวเองให้ดี หรือเราไม่กินเลย เราก็ต้องหาสิ่งสดชื่นให้กับตัวเอง การที่คุณเป็น Negative Product ในสายตาของผู้บริโภคบางกลุ่ม คุณก็ต้องพยายามทำในสิ่งต่างๆ ที่สร้าง Impact มากขึ้นใน Core Business ของตัวเอง ปัจุบันนี้ธุรกิจน้ำอัดลม, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กำลังท้าทายตัวเองว่าเราเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน เพราะสุดท้ายคนมองประสบการณ์ทั้งหมด
คนมองว่าสุดท้ายเราไม่สามารถทำให้เหล้ากับเบียร์หายไปจากโลกนี้ได้ แต่ว่าปัญหามันไม่ได้อยู่ที่เหล้าเบียร์อย่างเดียวหรือเปล่า ปัญหามันอยู่ที่ว่าคุณกินมากเกินไปหรือเปล่า คุณเมาแล้วขับรถหรือเปล่า กินแบบไม่รับผิดชอบหรือเปล่า
หรือเรื่องที่เป็นกระแสตอนนี้คือพลาสติก พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย 40 ปีก่อนเป็นพระเอกเลยด้วยซ้ำ ถ้าไม่มีพลาสติกหลายธุรกิจบนโลกใบนี้ไม่เกิด พลาสติกทำให้เรามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสะดวกขึ้นในราคาที่ถูกลง วันนี้ปัญหาเรื่องพลาสติกมาจากวิธีการที่เราใช้และจัดการหลังการใช้ที่ไม่ดีพอต่างหาก”
ช่วงท้ายๆ ของการสนทนาทีมงานอยากให้คุณปิยะชาติ ให้คำแนะนำสำหรับนักการตลาดยุคใหม่ ว่าต้องให้ความสำคัญเรื่องใดบ้าง ซึ่งคุณปิยะชาติ แนะนำว่า ในเชิงหลักการ การตลาด ก็คือกรอบที่ใช้อ้างอิงวิธีคิดร่วมกับทักษะที่มี ซึ่งทักษะของทุกคนไม่ได้หายไปไหน แต่องค์กระกอบของหลักคิดมากกว่าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
“เมื่อก่อนเราติด 4P, 4C เราบอกมาตลอดว่าลูกค้าต้องการความสะดวกจริงไหม แล้วทำไมร้านบางร้านคนถึงยอมต่อคิวเป็นชั่วโมง แสดงว่าเขาต้องการอะไรบางอย่างที่มากกว่าไปกินอาหารหรือเครื่องดื่ม เขาอาจจะต้องการ Image บางอย่างในการสื่อสารกับโซเชียลมีเดีย แสดงว่าหลักยึดเดิมมันเปลี่ยน เพราะคนไม่ต้องการ Convenience แต่ต้องการ Content หลักยึดเดิมหลายอย่างเลยใช้ไม่ได้ เพราะคนเปลี่ยนที่ระบบคุณค่า”
คุณปิยะชาติ ยังได้อธิบายการเปลี่ยนแปลงของยุคการตลาดไว้อย่างน่าสนใจว่า
Marketing 1.0 เราพูดถึงความพยายามในการเชื่อมคนกับสินค้าเข้าด้วยกัน ตอนนั้นได้สินค้าก็ดีใจแล้ว ถูกแพงไม่รู้ เหมือนเราไปขอเบอร์โทรศัพท์บ้านในยุคแรกๆ
Marketing 2.0 เป็นการเชื่อมคนกับข้อมูลข่าวสาร เพราะมีอินเตอร์เน็ตแล้ว ยุคนี้ผู้บริโภคมีความรู้เยอะขึ้น อยากได้สินค้าแบบที่ต้องการ เหมาะกับตัวเอง ราคาถูก
Marketing 3.0 คือการเชื่อมคนกับคน ความเป็นสังคมเข้มแข็งกว่าเดิม เริ่มมีคำว่า Social Score จากการอ่านริวิว คนรอบข้างมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจสูง
Marketing 4.0 ควรจะเป็นอีกยุคนึง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะกลายเป็นการรวมเอา 3 ยุคเข้าด้วยกัน กลายเป็นยุคที่เราเชื่อมคนกับสรรพสิ่งรอบข้าง กับสิ่งที่เรียกว่า Internet of Things อะไรก็เป็นข้อมูลได้ ตู้เย็นก็สั่งนมแทนเราได้เวลานมหมด
“สิ่งที่นักการตลาดในยุคนี้ต้องเจอ ก็คือ ตัวแปรมันเยอะมาก ที่สำคัญมันเป็นตัวแปรที่ค่ามันเปลี่ยนเร็ว หรือบางตัวแปรเราก็ไม่ทราบค่า การตลาดในปัจจุบันจึงต้องย้อนกลับมาที่เรื่องการสร้างแบรนด์มากขึ้น ย้อนกลับมาว่าเรามีดีอะไร คุณค่าแบบไหน เชื่อในอะไร แล้วหาวิธีในการแมตซ์สิ่งที่เรามีเข้ากับคำว่าผู้บริโภค ตรงนี้สำคัญมาก เรากำลังเปลี่ยนผ่านจากคำว่า Marketing ไปสู่คำว่า Matching แปลว่าอะไร แปลว่าของในโลกนี้ที่ไม่มี มันไม่มีอยู่จริง มันมีอยู่ คุณแค่ไม่รู้จักมัน หรือแค่ยังไม่เคยเจอ เพราะฉะนั้นมันจะมีคนที่เป็น Match Maker เกิดขึ้นเต็มไปหมด คนพวกนี้จะทำหน้าที่เซตระบบคุณค่าของฝั่งดีมานด์และฝั่งซัพพลายแล้วจับมาชนกัน เมื่อ Match กันก็เกิดการซื้อขายเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ยุคนี้เราจึงเห็นสตาร์ทอัพเกิดขึ้นมาเต็มไปหมด
ผมขอพูดถึงความสำคัญของนักการตลาด อนาคตอาชีพนักการตลาดจะหมดไป แต่เราจะเห็น CEO มาขายของเอง เห็นคนที่อยู่สายการผลิตมาขายของเอง ความเป็นนักการตลาดจะเป็นสิ่งที่ยังคงอยู่แต่จะกระจายไปทั่วองค์กร และกลายเป็นทักษะที่ทุกคนต้องมี ดังนั้นคนที่อยากเป็นนักการตลาดจะต้องหา Mindset ให้ถูกต้อง คือเข้าใจในสิ่งที่ผมบอกไปว่า ในอนาคตอาชีพนักการตลาดมันไม่มีแล้ว”