2. ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่ลดลง คาดว่าจะส่งผลให้มูลค่าตลาดค้าปลีกในปี 2020 หดตัวลงราว -14%
จากการที่ภาคการบริโภคที่มีความเปราะบางอยู่แล้วจากรายได้ทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรที่มีทิศทางชะลอตัว รวมถึงการชะลอตัวของการส่งออก ขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงและยังถูกซ้ำเติมด้วยผลกระทบจาก Covid-19 ที่ส่งผลให้บางกลุ่มธุรกิจประสบปัญหาการลดจำนวนชั่วโมงทำงานหรืออาจถึงขั้นปิดกิจการ ซึ่งส่งผลให้การว่างงานเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อเนื่องมายังธุรกิจค้าปลีกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากคือ ร้านค้าปลีก non-grocery ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าไม่จำเป็น อาทิ ห้างสรรพสินค้า ร้านเสื้อผ้า ร้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ร้านสินค้าความงาม รวมถึงร้านสินค้าเกี่ยวกับบ้านที่ได้รับผลกระทบจากทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคและการชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัย
ขณะที่ร้านค้าปลีก grocery ได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง ส่วนหนึ่งเนื่องจากยังเป็นสินค้าจำเป็นและผู้บริโภคยังมีความตื่นตระหนกและมีพฤติกรรมกักตุนสินค้าด้วย ขณะเดียวกันผู้บริโภคยังหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น
ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นจนส่งผลให้ภาครัฐมีคำสั่งปิดศูนย์การค้าเป็นการชั่วคราวโดยให้มีการเปิดบริการได้แต่เพียงร้านขายสินค้าจำเป็นบางประเภท อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา คาดว่าจะส่งผลให้รายได้ของธุรกิจค้าปลีกหดตัวลดลงอย่างมาก ซึ่งแม้ว่ายอดขายบางส่วนจะชดเชยด้วยยอดขายออนไลน์ แต่การขายสินค้าออนไลน์ยังมีสัดส่วนเพียงราว 2-3% ของมูลค่าตลาดค้าปลีก
ดังนั้น หากรวมผลกระทบจากทั้งจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวที่หายไป ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ส่งผลให้ EIC คาดการณ์มูลค่าตลาดค้าปลีกปี 2020 จะหดตัวราว -14% หรือคิดเป็นเม็ดเงินที่หายไป ราว 5 แสนล้านบาทจากมูลค่าตลาดค้าปลีกปี 2019 ที่อยู่ที่ราว 3.5 ล้านล้านบาท
สมมติฐานว่าธุรกิจค้าปลีกปิดดำเนินการประมาณ 2 เดือนและสถานการณ์การติดเชื้อเริ่มคลี่คลายจนสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติในไตรมาส 3 แต่ยอดขายยังอาจชะลอตัวในช่วงแรกจากความไม่มั่นใจของผู้บริโภค แต่จะเริ่มกลับมาเร่งตัวได้มากขึ้นในไตรมาส 4
3. Supply disruption
จากการที่สต็อกสินค้าที่อาจขาดแคลนหากพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศที่มีการปิดเมือง ขณะที่
สต็อกสินค้าที่ผลิตในประเทศ แม้ว่ายังมีเพียงพอแต่ยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามหากสถานการณ์การระบาดแพร่กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้นอาจส่งผลให้การกระจายสินค้ามีความล่าช้าได้
ทั้งนี้จากกรณีการปิดเมืองของจีนที่ผ่านมา คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสต็อกสินค้าของร้านค้าปลีกในไทยบางประเภท อาทิ ร้านขายสินค้าแฟชั่นเนื่องจากไทยนำเข้าเสื้อผ้าและรองเท้าจากจีนเป็นอันดับ 1 โดยหากมีการนำเข้าจากแหล่งผลิต
ที่ประสบปัญหาอย่างเช่น มณฑลหูเป่ย์ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มอันดับ 3 ของจีนอาจส่งผลให้สินค้ามีความล่าช้า
นอกจากนี้ ร้านค้าประเภทอื่น ๆ เช่น ร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ด ร้านขายสินค้า Home DIY ยังมีการนำเข้าสินค้าจากจีนค่อนข้างสูง ซึ่งหากไม่สามารถนำเข้าสินค้าจากแหล่งผลิตในประเทศอื่น ๆ ทดแทนได้ ก็อาจจะส่งผลให้สต็อกสินค้า
ไม่เพียงพอได้ในระยะสั้น
อย่างไรก็ดี ความต้องการที่ลดลงในปัจจุบันส่งผลให้สต็อกสินค้ายังไม่น่าจะประสบปัญหามากนัก ขณะที่การผลิตในประเทศจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้บริโภคเริ่มมีการกักตุนสินค้าบางชนิดโดยเฉพาะหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ส่งผลให้สต็อกสินค้าลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ผู้ผลิตในประเทศยังให้ความมั่นใจว่าสินค้าต่าง ๆ จะมีเพียงพอสำหรับใช้ในยามวิกฤติ
ขณะที่สต็อกสินค้าที่ผลิตในประเทศ แม้ว่ายังมีเพียงพอ แต่ยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามหากสถานการณ์การระบาดแพร่กระจายในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นวงกว้างมากขึ้นอาจส่งผลให้การกระจายสินค้ามีความล่าช้าได้
นอกจากนี้ ยังต้องจับตามองถึงสถานการณ์ Covid-19 ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจนอาจส่งผลให้มีจำนวนธุรกิจที่ประสบปัญหาการเงินจนต้องปิดกิจการเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากธุรกิจค้าปลีกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจที่พึ่งพารายได้เป็นรายวัน ขณะเดียวกันมีภาระต้นทุนส่วนใหญ่มาจากการเก็บสต็อกสินค้า ค่าเช่าพื้นที่ รวมไปถึงค่าจ้างพนักงาน ดังนั้น ในสภาวะที่การบริโภคชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องผนวกกับมาตรการปิดพื้นที่ศูนย์การค้า ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อเป็นระยะเวลานาน คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในรายที่สภาพคล่องจำกัด เงินทุนหมุนเวียนน้อย รวมถึงมีภาระค่าใช้จ่ายหรือภาระหนี้สูง
ทั้งนี้หากดูจากข้อมูลจำนวนบริษัทค้าปลีกค้าส่งที่ปิดกิจการรวมถึงที่ประสบปัญหาการเงินในช่วงปี 3 ปีที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นสัญญาณที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลกระทบของกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยในช่วงสัปดาห์ที่ 1-9 ของปี 2020 มีจำนวนบริษัทที่ปิดกิจการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1,717 บริษัทเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ที่ 1,445 บริษัท ทั้งนี้คงต้องจับตามองแนวโน้มการปิดกิจการของธุรกิจค้าปลีกในอนาคตจากผลกระทบของการระบาดของ Covid-19 ที่รุนแรงมากขึ้น อาจส่งผลให้มีจำนวนธุรกิจค้าปลีกที่ประสบปัญหาจนต้องปิดกิจการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ที่มีความเปราะบางและสภาพคล่องต่ำ