ห้างเซ็นทรัลเป็นมากกว่าพื้นที่ช้อปปิ้ง
เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีทุกครั้งที่มาห้างเซ็นทรัล เราจึงได้ปรับห้างให้เป็นมากกว่าสถานที่ช้อปปิ้ง ด้วยการทำให้ห้างเป็น Lifestyle Department Store โดยเริ่มปรับปรุงพื้นที่ในห้าง 25% ให้เป็นพื้นที่ที่ลูกค้าจะมาใช้ชีวิต “ตอนนี้เราไม่มายด์ว่าลูกค้าเข้าห้างแล้วจะมาช้อปปิ้งหรือเปล่า เพราะเราอยากทำให้ห้างเป็นสถานที่ลูกค้ามาใช้ชีวิตมากกว่า ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการพลิกโฉม CENTRAL @ centralwOrld ซึ่งเรียกว่าเป็น Lifestyle Store โดยมีไฮไลต์อย่างโซน Living House ที่เป็นการผสมผสานของแผนกโฮม และอาหารสตรีทฟู้ดระดับมิชลิน และภายในห้างเซ็นทรัล สาขาเซ็นทรัลเวิลด์นี้ ยังได้นำคาเฟ่ ร้านอาหาร ร้านตัดผม สปา ห้องลองหมอน กระทั่งมุม Chill & Charge ให้ลูกค้าชาร์จแบตเตอรี่ หรือกางโน้ตบุ๊กนั่งทำงาน เรามองว่าเทรนด์ต่อไปในอนาคต ห้างอาจจะลดพื้นที่การขายสินค้า เพราะมีออนไลน์เป็นตัวรองรับที่ยกระดับขึ้นมาเป็นอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้ห้างกลายเป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้มาใช้ชีวิต มาพบปะสังสรรค์ มาแฮงเอ้าต์ แล้วได้รับความสุข และความประทับใจกลับไปทุกครั้ง”
มอบประสบการณ์ช้อปปิ้งอย่างไร้รอยต่อ
“จริงๆแล้วเราได้ยินคำว่า Technology Disruption มานานแล้ว แต่เรามองว่ามันเป็น Customer Disruption มากกว่า คำว่า Technology เป็นเพียงตัวเร่งที่ทำให้เราต้องปรับตัวเพื่อให้ทันต่อยุคสมัย เราจึงมีช่องทางการสื่อสารกับลูกค้าครบทุกช่องทาง ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไอจี ทวิตเตอร์ รวมถึงไลน์ พร้อมทั้งบุกเบิกสร้าง Central Online มาตั้งแต่ปี 2017 เพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อระหว่างออฟไลน์ และช่องออนไลน์ที่แข็งแรง ทำให้เราเป็นห้างแรกและห้างเดียวที่สร้างออมนิชาแนลได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด
นอกจากนั้น เรายังใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ในการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า จึงคิดค้นบริการ Central Chat & Shop เพื่อ Live Chat กับลูกค้าโดยมอบความสะดวกสบายให้ลูกค้าสามารถแชตโต้ตอบกับพนักงานเพื่อเลือกซื้อสินค้าได้ตามชอบผ่านแอปพลิเคชั่น Line โดยลูกค้าสามารถแจ้งมารับที่หน้าร้านหรือให้จัดส่งที่บ้านก็ได้ตามต้องการ แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนเอเชียมีความเป็นครอบครัวสูงชอบพบปะกันทุกอาทิตย์ ชอบใช้ชีวิตอยู่ในห้าง ดังนั้น แนวโน้มห้างสรรพสินค้า Brick & Mortar กำลังจะหมดความนิยมไป จึงใช้ไม่ได้กับชาวเอเชีย สิ่งที่ห้างเซ็นทรัลทำคือ การให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดีทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งความแข็งแรงของออนไลน์มาจากการลงทุนในแพลตฟอร์ม และ Distribution Center ที่ลาดกระบัง มูลค่า 2,500 ล้านบาท ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน ส่วนความแข็งแรงของออฟไลน์ทำให้เราได้เปรียบอีมาร์เก็ตเพลซ เพราะการมีหน้าร้าน ย่อมสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าได้มากกว่า ทั้งหมดเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ยอดขายออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น แคมเปญ Mega Sale 11.11 และ 12.12 นับเป็นแคมเปญที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการผนึกกำลังของออฟไลน์ และออนไลน์ เป็นออมนิชาแนลอย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยโปรโมชั่นและบริการสำหรับลูกค้าที่ซื้อของหน้าร้านเหมือนกับการซื้อออนไลน์ โดยมียอดขายปี 2019 เติบโตขึ้นถึง 5 เท่า จากปี 2018 ตอนนี้ห้างเซ็นทรัลไม่ได้มี 23 สาขา แต่มี 24 สาขา คือ 23 ที่เป็นออฟไลน์ กับ 1 สาขาที่เป็นออนไลน์และปัจจุบันเรามีกลุ่มลูกค้า 30% ที่ซื้อสินค้าของเราทั้งออฟไลน์และออนไลน์”