“4 ปีที่แล้วที่ Joox เปิดตัวในประเทศไทย ดิจิทัล มิวสิค เริ่มเข้ามามีบทบาทในการฟังเพลงของคนไทย แต่ในปีที่ 5 ของ Joox การฟังเพลงจากแอพที่เป็นมิวสิค สตรีมมิ่ง ถือเป็นเรื่องปกติไปแล้ว สะท้อนให้เห็นจากความสำเร็จของ Joox ทั้งในแง่ของการมีฐานผู้ฟังใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในแง่ของการตอบรับจากตัวศิลปินและค่ายเพลงสังเกตได้จากตัวเลขของเพลงที่ติดชาร์จท็อปฮิตใน Joox มีเพิ่มขึ้นจาก 200 เพลงในปี 2016 เป็นกว่า 600 เพลง ในปีที่ผ่านมา”
นั่นคือคำกล่าวของ กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหาร JOOX ประเทศไทย ที่แม้เขาจะไม่ยอมบอกตัวเลขของยอดตัวเลขดาวน์โหลดและฟังเพลงผ่าน Joox ในบ้านเรา แต่ในปีที่ผ่านมา JOOX ประสบความสำเร็จอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยยอดผู้ใช้สูงถึง 290 ล้านราย ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทยเมียนมา อินโดนิเซีย มาเลเซีย และฮ่องกง โดยมียอดการฟัง (Play Time) รวมถึงกว่า 15,000 ล้านครั้ง โดยประเทศอินโดนีเซียถือเป็นตลาดที่มียอดคนฟังมากสุดในบรรดา 5 ประเทศที่กล่าวมา แต่ถ้ามองถึงตลาดที่มีการเติบโตเร็วสุดคงอยู่ที่ประเทศเมียนมา เนื่องจากเป็นตลาดเกิดใหม่ในย่านนี้
ขณะที่ตลาดในบ้านเรา กฤตธี บอกว่า ยังไม่ Mature มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะฐานคนฟังกว่า 70% จะเป็นคนกลุ่มอายุต่ำกว่า 35 ปีลงมา กลยุทธ์ของ Joox ในการขยายฐานคนฟัง จึงมีทั้งที่เป็นการขยายออกไปยังต่างจังหวัดผ่านการทำแคมปัส ทัวร์ และสคูล ทัวร์ รวมถึงการขยายฐานไปหากลุ่มคนฟังที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป โดยใช้คอนเทนต์ที่เป็นเพลงที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นก็คือการนำเพลงเก่าในยุค 90 กลับมารีเมคใหม่โดยศิลปินยอดนิยม เพื่อดึงคนฟังกลุ่มใหม่ๆ ที่ถวิลหาเพลงเก่าในช่วงที่ตัวเองเป็นเด็กหรือวัยรุ่น
“ถ้าจะสรุปเบื้องหลังความสำเร็จของการทำตลาดในประเทศไทยแล้ว จะมีออกมาเป็น 4 ข้อหลักๆ ไล่ตั้งแต่ ข้อแรก Joox เข้าตลาดมิวสิค สตรีมมิ่งในไทยด้วยความเข้าใจความต้องการของคนฟังเพลงในประเทศเป็นอย่างดี เราจึงเป็นเจ้าแรกที่ล้อนช์โมเดลฟรีเมียม สำหรับคนที่ต้องการฟังฟรีแต่มีโฆษณา หรือหากไม่ต้องการโฆษณาก็ต้องเสียค่าสมาชิก ข้อ 2 จะเป็นเรื่องของการทำตลาดแบบไฮเปอร์ โลคัล ที่เรามีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับศิลปินและค่ายเพลง เพื่อให้คำแนะนำว่าแนวเพลงแบบไหนกำลังเป็นที่นิยม หรือเพลงไหนควรทำออกมา ข้อ 3 เป็นเรื่องของการนำเสนอนวัตกรรมให้กับตลาดอย่างต่อเนื่องผ่านการพัฒนาฟีเจอร์การใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ และสุดท้าย การเป็นมิวสิค คอมมูนิตี้ที่เรามีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อเอนเกจคนฟังที่อยู่ในคอมมูนิตี้ของเรา”