การล่มสลายธุรกิจดีลออนไลน์ชื่อดังอย่าง Enzogo และ Groupon กลายเป็นกรณีศึกษาที่ทำให้ GoWabi Startup ที่เข้ามาทำธุรกิจดีลออนไลน์เหมือนกันสามารถแจ้งเกิดในตลาด เพราะนำจุดอ่อนของ 2 เจ้านี้มาแก้ไขพัฒนาปรับปรุงให้เป็นบริการใหม่ที่สร้างลูกค้าขาประจำ จนผ่านมาถึงวันนี้ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าถ้าดีลดี ใช้งานง่าย และได้รับบริการจริงก็สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน แต่จะต้องเจาะตลาดให้ถูกที่ถูกเวลา โดนใจทั้งลูกค้าและพาร์ทเนอร์
วิภาวี วงศ์สิริศักดิ์ CCO GoWabi กล่าวว่า GoWabi เกิดจาก Co-Founder 3 คนที่อยู่ในวงการอีมาร์เก็ตเพลสทั้งหมดมารวมตัวกัน โดยตัวเธอเองมาจาก Zalora ในขณะที่ CTO ชาวรัสเซียมาจาก Enzogo ส่วน CEO ชาวสวีเดนเคยทำอยู่ Lazada องค์ความรู้จากองค์กรเดิมที่เคยทำมาเลยกลายเป็นต้นทุนเพื่อมากำจัดจุดอ่อนของธุรกิจดีลให้หมดไป
GoWabi จึงออกแบบให้มีทั้งเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่น เป็นโมเดลที่ไม่ได้ขายดีลที่ถูกที่สุดเพื่อให้คนเข้ามาเล่นกับราคา แต่พยายามสร้างฐานลูกค้าที่มีลอยัลตี้ ด้วยการจองผ่าน GoWabi และจ่ายค่าบริการเผ่านแพลตฟอร์มได้อย่างง่ายดาย โดยลูกค้าไม่ต้องเสียเวลาโทรจองเอง หรือรอให้เสียเวลาในกรณีที่ Walk-in เข้าไป นอกจากนี้ยังขจัดปัญหากำแพงด้านภาษาในกรณีที่เป็นลูกค้าต่างชาติด้วย เพราะนอกจากมีภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีภาษาจีน รองรับการจ่ายผ่านบัตรเครดิต และ Ali Pay ได้อีกต่างหาก
ที่สำคัญ GoWabi เลือกที่จะเจาะกลุ่มตลาดความสวยความงามเพียงอย่างเดียว หลังพบบทเรียนจากธุรกิจดีลยักษ์ใหญ่หลายรายที่ประกาศปิดตัวลงไป และนั่นก็ยังเป็นที่มาของชื่อ GoWabi
“ชื่อ GoWabi มาจากความที่เราพยายามทำให้เป็นชื่อญี่ปุ่น เพราะ Perception โดยเฉพาะคนไทย เมื่อนึกถึงเรื่องความงามก็จะนึกถึงความงามตามแบบฉบับญี่ปุ่น เราเริ่มต้นมาจากคำว่า Wabisabi แปลว่า Beauty & Wellness คำว่า Go คือไป จึงแปลตรงตัวได้ว่า ไปกับความสวยความงาม”
สาเหตุที่ GoWabi มองตลาดนี้ เพราะเป็นตลาดที่มีแวลู่มหาศาล นั่นหลายความว่ามีโอกาสเติบโตมหาศาลเช่นกัน ทว่ายังไม่เคยมีเจ้าไหนเจาะตลาดนี้ หรือทำเป็นชิ้นเป็นอันมาก่อน ส่วนใหญ่จะผสมปนเประหว่างความสวยความงาม ร้านอาหาร ทัวร์ท่องเที่ยว จนไปถึงสวนสนุก กลายเป็นช่องว่างที่ GoWabi มองเห็น ด้วยการทำธุรกิจดีลความงามโดยตรง พร้อมวางตำแหน่งแบรนด์ที่จะเป็นช้อปปิ้งมอลล์สำหรับด้านความสวยความงาม โดยมีโมเดลสร้างรายได้มาจาก 2 ช่องทาง นั่นคือ ส่วนแบ่งรายได้จากทุกๆ การขาย และค่าการทำตลาดจากร้านค้า
ทั้งนี้ GoWabi เติบโตมาจากแคททากอรี่สปาก่อน โดยมีพาร์ทเนอร์หลักๆ อย่าง Let’s Relax, บริสุทธิ์เพียวสปา และสปาตามโรงแรมชั้นนำ หลังจากนั้นจึงเพิ่มแคททากอรี่ขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งหมดเป็น 9 แคททากอรี่ ได้แก่ ผิวหน้า ต่อขนตาจัดแต่งทรงคิ้ว แวกซ์ คลินิกความงาม ซาลอน และบริการทันตกรรม เพื่อขยายฐานไปยังกลุ่มผู้ชายมากขึ้นด้วย
จาก Pain Point ที่ GoWabi สำรวจมา พบว่า ลูกค้าโทรไปจองแล้วไม่ได้บริการที่ต้องการ หรือมีปัญหาในการติดต่อสื่อสารโดยเฉพาะชาวต่างชาติที่อยากเข้ามาใช้บริการเสริมความงาม GoWabi จึงดีไซน์ User Interface ให้ใช้งานง่าย เพียงเข้าไปหน้าจอเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นก็สามารถจองได้เลย และยังได้ดีลแบบเอ็กซ์คลูซีฟ หรือถ้าใครยังไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน GoWabi ยังมีฟีเจอร์ Near Me เพื่อหาร้านที่อยู่ใกล้ที่สุด โดยปัจจุบันมีพาร์ทเนอร์มากกว่า 2,000 ร้านค้าทั่วประเทศ ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย พัทยา และกระบี่
นอกจากการใช้งานที่ง่ายมากๆ แล้วจุดเด่นของ GoWabi ก็คือดีลที่เป็นราคาพิเศษ การออกแคมเปญพิเศษ Flash Sale ในแต่ละเดือน และมี Cash Back 5% เพื่อนำไปเป็นส่วนลดเมื่อใช้บริการครั้งต่อไป ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นกลไกในการดึงดูดลูกค้ากระตุ้นยอดขายแล้ว ยังเป็นวิธีที่ช่วยโปรโมทให้กับร้านค้าอีกด้วย
“ดีลที่เราหามาได้เป็นราคาที่ถูกที่สุดให้กับลูกค้าก็จริง แต่ในอีกมุมหนึ่งเราพยายามเพิ่มแวลู่ให้กับร้านค้าด้วย โดยเฉพาะร้านค้าใหม่ที่เราดีล เราจะมอบมาร์เก็ตติ้งแพ็กเกจให้ 3 เดือนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเราทำการตลาดโปรโมทในช่องทางต่างๆ ให้กับร้านค้า เช่น ส่งอีเมลมาร์เก็ตติ้งไปยังกลุ่มเป้าหมาย และส่ง App push ป๊อปอัพขึ้นมาให้ลูกค้าเห็นบนหน้าจอ และโมบายแบนเนอร์”
การโฟกัสที่ตลาดความสวยความงามเพียงอย่างเดียวยังทำให้ร้านค้ายินดีที่จะดีลกับ GoWabi เพราะลูกค้าที่เข้ามาไม่ใช่ Deal Hunter เหมือนเว็บหาดีลอื่นๆ ที่ใช้จ่ายตามดีลที่ซื้อไป ไม่ใช้บริการเพิ่ม ตรงข้ามกับลูกค้าที่ได้จาก GoWabi จะเป็นลูกค้าคุณภาพ มีกำลังซื้อพอที่จะต่อยอดบริการจากทางร้านค้า
“จุดเด่นของ GoWabi อีกอย่างหนึ่งคือ เราทำหน้าที่เหมือนเป็นที่ปรึกษาให้กับทางร้านค้า ทุกเดือนเราจะไปเยี่ยมพาร์ทเนอร์ โดยนำดาต้าที่เรารวบรวมมาจากการใช้บริการของลูกค้าไปเสนอแนะกับเขา เช่น เรามองว่าบริการแว็กซิ่งมีการเติบโตที่น่าสนใจ เราก็เข้าไปแนะนำร้านค้าให้เพิ่มบริการนี้ พอร้านค้าทำยอดขายก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เป็นต้น ทำให้ GoWabi และร้านค้าเติบโตไปด้วยกัน”
ไม่ได้มีแค่ร้านค้าที่เป็นพาร์ทเนอร์เท่านั้น GoWabi ยังขยายความร่วมมือเป็นพาร์ทเนอร์กับอีมาร์เก็ตเพลสอื่นๆ ไว้เป็นอีกช่องทางที่สามารถขยายดาต้าเบสได้อีกทาง เช่น Shopee และ Lazada และในอนาคตกำลังจับมือกับ Wongnai Beauty และ JD Central
“แม้ว่าตอนนี้ลูกค้าจะเข้ามาจากช่องทาง GoWabi มากที่สุด แต่การหาพาร์ทเนอร์ใหม่ เรามองถึงโอกาสที่จะขยายธุรกิจ ว่าจะเป็นในรูปแบบใดได้บ้าง เพราะทุกวันนี้ช้อปปิ้งออนไลน์มีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เราจำเป็นก็ต้องเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าได้เข้าถึง GoWabi ให้ได้มากที่สุด”
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเริ่มมีคู่แข่งหน้าใหม่เริ่มเข้ามากินเค้กก้อนนี้บ้าง แต่ GoWabi ยังสามารถรักษาจุดแข็งในเรื่องต่างๆ ไว้ได้ เช่น จำนวนร้านค้า และโปรโมชั่นที่ดีลได้เยอะมากกว่า
“ธุรกิจดีลแข่งขันกันตรงจำนวนของร้านค้า ต่อมาเป็นเรื่องของราคา และการได้รับบริการในช่วงเวลานั้นๆ ส่วนใหญ่พฤติกรรมของคนมักอยากสวยเร็วๆ จองล่วงหน้าระยะสั้น ไม่จองยาว เราจึงออกแบบให้เสามารถจองได้ภายใน 2-3 ชั่วโมง เพื่อรองรับลูกค้าที่มีพฤติกรรม Nowism ด้วย”