แรงเยอร์
อีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
เครื่องดื่มชูกำลังแรงเยอร์คืออีก 1 กรณีศึกษาที่น่าสนใจของเรื่องนี้....
เดิมที แรงเยอร์ เป็นเครื่องดื่มชูกำลังของพันธมิตรรายหนึ่งของเจริญ สิริวัฒนภักดีที่เป็นเจ้าของโรงเหล้า แล้วทำแบรนด์แรงเยอร์ขึ้นมา ก่อนที่จะถูกไทยเบฟทุ่มงบ 420 ล้านบาท ซื้อกิจการของบริษัท เครื่องดื่มแรงเยอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลังภายใต้เครื่องหมายการค้า “แรงเยอร์” และกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม “แบล็ค อัพ” เมื่อราวปี 2551 ก่อนที่จะให้บริษัทในเครือคือเสริมสุขที่มีระบบจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งเป็นคนทำตลาดอีกทอดหนึ่ง
ว่ากันว่า ภาพของแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังอย่างแรงเยอร์ ในช่วงที่ผ่านมา ค่อนข้างจะพล่ามัวในสายตาของผู้บริโภค ด้วยเหตุผลของการมี Positioning ที่ไม่ชัดเจนเท่าไรนัก ทำให้ หลังการเปลี่ยนมือมาสู่ภายใต้ชายคาของเสริมสุขในปี 2556 สิ่งแรกที่ทำก็คือ การ Rebrand เพื่อให้แรงเยอร์ มีภาพหรือจุดยืนที่ชัดเจน
การเข้าตลาดของแรงเยอร์ในครั้งนั้น มีการปรับภาพลักษณ์ใหม่ พร้อมกับวาง Positioning ให้แรงเยอร์ เป็นเครื่องดื่มสำหรับคนทำงานรุ่นใหม่ที่ Work Hard ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ใส่สุดแรง” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนทำงานรุ่นใหม่ทำงานอย่างมีความสุข ทุ่มเทสุดๆ มีเท่าไร ใส่เท่านั้น เพื่อผลักดันให้ชีวิตก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง
นอกจากการปรับคอนเซ็ปต์ในการสื่อสารแบรนด์ใหม่ ที่มุ่งสื่อถึง Positioning ใหม่ที่มีการปรับเปลี่ยนแล้ว เสริมสุขยังมีการปรับตัวแพ็กเกจจิ้งใหม่ที่ดูทันสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะตัวเสือที่อยู่บนขวด มีการปรับเปลี่ยนให้เสือตัวใหม่ที่เข้มแข็งพร้อมทะยานไปข้างหน้า และพัฒนารสชาติที่โดนใจเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนทำงานรุ่นใหม่
ก่อนหน้าที่จะมีการ Rebrand แรงเยอร์ นั้น ภาพของเครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์นี้ จะเป็นแบรนด์ที่คอยให้กำลังใจหรือสร้างแรงบันดาลใจในการสู้ชีวิตแก่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใช้แรงงาน โดยมีคอนเซ็ปต์หลักที่ใช้สื่อสารแบรนด์คือ “แรงใจไม่มีวันหมด” ซึ่งถือเป็นจุดยืนที่ไม่แตกต่างจากแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์อื่นๆ เท่าไรนัก