ความน่าสนใจของตลาดชาเขียวกัมพูชาและลาวนั้น มาจากการเป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูง ผู้บริโภคในตลาดเองก็มีความคุ้นชินและชื่นชอบตราสินค้าจากไทย ขณะที่การเข้าไปทำตลาดของชาเขียวโออิชิ มีการปรับให้สอดคล้องกับประเทศนั้นๆ เช่น กัมพูชาที่มีศักยภาพการเติบโตสูง มีกำลังซื้อสูง จึงเข้าไปขยายช่องทางการจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น พร้อมส่งไซส์ 500 มล. เข้าไป และพัฒนาด้วยรสชาติใหม่ โออิชิ รสทับทิม ซึ่งเป็นผลไม้ที่ชาวกัมพูชาชื่นชอบ ตลอดจนการใช้สื่อทีวีและดิจิทัลควบคู่กัน
ส่วนใน สปป.ลาว นั้น จะรุกตลาดต่อเนื่องด้วยการใช้กลยุทธ์ Product Innovation ส่งโออิชิ องุ่นเคียวโฮนำร่องทำตลาด และทำแคมเปญเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นเป็นหลัก เช่นเดียวกับตลาดเมียนมา ที่ถูกเพิ่มน้ำหนัก และให้ความสำคัญกับการบุกตลาดอย่างเต็มที่ ซึ่งยอดขายในตลาด CLMV จะเข้ามาช่วยบาลานซ์ และสร้างการเติบโตให้กับพอร์ตเครื่องดื่มของโออิชิได้แบบยั่งยืนในระยะยาว
ไม่เพียงเท่านั้น การเข้าไปเติบโตในตลาด CLMV ยังเข้ามาช่วยบาลานซ์การเติบโตให้มีออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากย้อนหลังไปดูตลาดชาพร้อมดื่มของบ้านเรา พบว่า ช่วง 2 – 3 ปี ก่อนหน้านี้ ตลาดแทบไม่มีการเติบโต เพิ่งจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปีนี้ โดยมูลค่าตลาดในช่วงเดือน ม.ค. - ก.ย. 2562 เทียบกับปีก่อนหน้ามีการเติบโตขึ้น 4% เป็นผลมาจากกลุ่ม Premium Tea ที่มีการเติบโตสูงขึ้น ตอบรับกระแสรักสุขภาพของผู้บริโภค และกลุ่ม Mainstream ซึ่งเป็นเซ็กเม้นต์ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดชาเขียว เติบโตขึ้นจากการที่โออิชิ ส่งแคมเปญ โออิชิ ฮันนี่เลมอน “สดชื่นกับ โออิชิ ด้วยน้ำผึ้งเฮียกขะมิทสึแท้จากญี่ปุ่น” เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และสร้างทั้งกระแสและยอดขายให้เติบโตได้อย่างมากในปีนี้