โออิชิ ถือเป็นอีก 1 แบรนด์หลักที่เข้ามาช่วยสร้างการเติบโตในขาของธุรกิจอาหารให้กับกลุ่มไทยเบฟที่มีรายได้จากธุรกิจอาหารในปี 2019 (ต.ค.61 – ต.ค.62) อยู่ที่ 11,649 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเฉพาะแบรนด์โออิชิ แบรนด์เดียว สามารถทำยอดขายได้เกินกว่าครึ่งของยอดรายได้ทั้งหมด ด้วยจำนวนสาขาที่มีอยู่ในมือ 266 สาขา
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในฐานะผู้นำในตลาดร้านอาหารญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งของบทบาทในการทำตลาดของร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์นี้ก็คือ ต้องเข้ามาขับเคลื่อนการเติบโต พร้อมกับสร้างสีสันใหม่ๆ ให้กับตลาด โดยการเป็นผู้นำตลาดที่ดีนั้น ต้องมีการสร้างบทบัญญัติ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการเติบโต และนี่คือบัญญัติ 4 ประการ ที่โออิชิให้ความ สำคัญมาตลอด
1.พร้อมที่จะดิสรัปท์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา หากย้อนไปดูการเกิดขึ้นของร้านอาหารญี่ปุ่นภายใต้แบรนด์โออิชิ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว จะพบว่า แบรนด์นี้ เข้ามาด้วยการดิสรัปท์ตลาดร้านอาหารญี่ปุ่น พร้อมกับสร้างปรากฏการณ์ใหม่ เพราะในช่วงก่อนหน้านั้น อาหารญี่ปุ่น ถือว่าเป็นประเภทของร้านอาหารที่มีราคาค่อนข้างสูง และส่วนใหญ่ก็มีให้บริการอยู่ในโรงแรมใหญ่ๆ
โออิชิ เข้าตลาดด้วยการมองเห็นโอกาสทางการตลาดที่ซ่อนอยู่มหาศาล พร้อมกับดิสรัปท์ตลาดอย่างสิ้นเชิงด้วยการสร้างรูปแบบการขายแบบบุฟเฟ่ต์ในราคาเพียงกว่า 500 บาทต่อหัว ทำให้ลูกค้าทั่วไปสามารถเอื้อมถึงได้ ผลที่ตามมาก็คือ อาหารญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็วพร้อมกับการขยายฐานของตลาดออกไปเป็นแมส ซึ่งโออิชิ มีการใช้กลยุทธ์แบรนด์ พอร์ตโฟลิโอ ด้วยการจัดพอร์ตของแบรนด์ผ่านกลยุทธ์ราคาที่สามารถแมตช์เข้าไปหาลูกค้าได้ทุกกลุ่ม ไล่ตั้งแต่โออิชิ ชาบูชิ ที่เจาะตลาดวัยรุ่น โออิชิ บุฟเฟ่ต์ โออิชิ อีทเทอร์เรียม และโออิชิแกรนด์ที่เจาะตลาดพรีเมียมโดยตรง
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่ภาพของ “บุฟเฟ่ต์” กลายเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะการรับรู้ของลูกค้าก็คือการกินบุฟเฟ่ต์ต้องกินแบบเต็มที่ เพื่อให้คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป แต่เมื่อคนไทยเริ่มใส่ใจสุขภาพ ภาพลักษณ์ของบุฟเฟ่ต์จึงไม่ถูกใจคนรุ่นหม่
โออิชิ จึงต้องดิสรัปท์ตัวเอง พร้อมกับสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ด้วยการ Educate ลูกค้าว่า การกินแบบบุฟเฟ่ต์นั้น ไม่ต้องกินเยอะ เลือกกินเฉพาะสิ่งดีๆ ก็ได้ แบรนด์อย่างอีทเทอเรียม จึงเกิดขึ้นเพื่อเข้ามาเปลี่ยน Perception ในเรื่องนี้โดยตรง