ปฏิเสธไม่ได้ว่า e-Commerce ยังคงเป็นธุรกิจที่มาแรงอย่างต่อเนื่องใน พ.ศ. นี้ และดูแล้วจะยังแรงดีไม่มีตก สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนแปลงไป ชอบความสะดวก เบื่อการเดินทาง เวลามีน้อย ต้องการตัวช่วย ชอบความรวดเร็ว ฯลฯ
จากการประเมินของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พบว่า มูลค่า e-Commerce ปี 2561 อยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท เติบโตกว่าปีก่อนหน้าถึง 14% ซึ่งสินค้ายอดนิยม 3 อันดับในตลาด e-Commerce หนีไม่พ้น
-
กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
-
เครื่องสำอางค์ และอาหารเสริม
-
คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์
ถ้าเรามองถึงห่วงโซ่ (Supply Chain) ของอุตสาหกรรม e-Commerce ก็จะพบว่ามีสมาชิกในช่องทางที่เกี่ยวข้องมากมายที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและทำให้ตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งบรรดาผู้เล่นในตลาด e-Marketplace ที่มีอยู่หลายตัวเลือก และพัฒนาแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์คนที่แวะเวียนเข้ามาใช้บริการ, ตัวพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เองที่มีเข้ามาในตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ และต่างก็สรรหาสารพัดสินค้ามาเป็นตัวเลือก และทำราคาให้น่าสนใจสำหรับลูกค้า รวมไปถึงระบบขนส่งสินค้าที่นับวันจะพัฒนาให้สะดวก และเร็วทันใจขาช้อปมากยิ่งขึ้น องค์ประกอบเหล่านี้ช่วยกระตุ้นตลาด และสร้างสีสันทางการแข่งขันจนทำให้ตลาด e-Commerce เคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงปัจจัย ความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี ระบบ e-Payment ที่สะดวกมากขึ้น มีช่องทางรูปแบบการชำระที่หลากหลาย ปลอดภัย และมั่นใจได้ให้กับทั้งฝั่งผู้ขาย และผู้ซื้อ
ที่ผ่านมา เรามักจะเห็นการกระตุ้นตลาดเกิดขึ้นในฝั่งของ “ผู้บริโภค” ทั้งการสร้างประสบการณ์การใช้งาน ความหลากหลาย ของสินค้า หรือแม้แต่โปรโมชันต่างๆ อาจจะไม่ค่อยได้เห็นการทำกิจกรรมกับฝั่งของ “ผู้ขาย” บน e-Marketplace สักเท่าไหร่