ซีเอ็มเอ็มยู หรือวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยข้อมูลงานวิจัยด้านการตลาดเกี่ยวกับแบรนด์ไทยว่า ปัจจุบันสินค้าแบรนด์ไทยและสินค้าท้องถิ่นของไทย สามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกอย่างมาก โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาชุมชน ระบุว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมา สินค้าโอท็อปมียอดจำหน่ายสูงถึง 1.9 แสนล้านบาท
ความน่าสนใจคือ มากกว่า 40% ของสินค้าโอทอปไทยที่มีจำนวนมากกว่า 20,000 ราย ยังไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร ผู้ช่วยคณบดี ด้านการสื่อสารองค์กร และหัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปี 2561 ยอดจำหน่ายสินค้าโอท็อป คิดเป็นเพียง 1.2% ของ GDP เท่านั้น ซึ่งถือเป็นเปอร์เซ็นต์ส่วนน้อย ทั้งยังมองว่า หากประเทศไทยสามารถผลักดันสินค้าท้องถิ่นและสินค้าแบรนด์ไทยให้ก้าวสู่ความเป็นมาตรฐานสากลได้ จะทำให้แบรนด์เหล่านี้มีความเข้มแข็ง และมีศักยภาพมากพอที่จะไปแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับประเทศได้อีกหลายเท่าตัว
รวิพัชร ศรีสถิต หัวหน้าคณะวิจัยฯ นักศึกษาปริญญาโทสาขาการตลาด ซีเอ็มเอ็มยู เปิดเผยว่า จุดอ่อนสำคัญที่ทำให้แบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ไทยยังไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกนั้น เกิดจากหลายปัจจัยด้วยกันไม่ว่าจะเป็น ปัจจัยด้านการทำตลาด การสร้างเอกลักษณ์ รูปแบบ การสร้างเรื่องราวและความแตกต่างของแบรนด์ ปัจจัยด้านราคา รวมไปถึงช่องทางการจัดจำหน่ายและการสื่อสารที่ยังไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในกลุ่มใหญ่ได้
เช่นนั้น คณะวิจัยฯ จึงได้ศึกษาถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค รวมไปถึงปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนแบรด์ไทยให้ก้าวสู่ความเป็นมาตรฐานสากลจนสามารถแข่งขันในตลาดโลก โดยเลือกศึกษาจาก 20 แบรนด์ไทยที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจมาแล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งยังเป็นแนวทางในการยกระดับแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จทั้งในไทยและต่างประเทศ เกิดเป็นสูตรลับความสำเร็จฉบับแบรนด์ไทย 5 ข้อด้วยกัน ได้แก่
Decoding the Success: Thai Local สูตรลับความสำเร็จฉบับแบรนด์ไทย
1. มองหาภูมิปัญญาในการต่อยอด
มองหาโอกาสและภูมิปัญญาในการต่อยอด พัฒนาให้เป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ มีความโดดเด่น สะท้อนถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต รวมไปถึงความเป็นอยู่ของสังคมไทย เพื่อสร้างความแตกต่าง ฉีกแบรนด์ออกจากสินค้าที่มีทั่วไปในตลาด
2. คุณภาพไทยมาตรฐานโลก
เมื่อการแข่งขันสูง แน่นอนว่าคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ ผู้ผลิตจึงต้องใส่ใจในกระบวนการและวางมาตรฐานของสินค้าให้เป็นที่ยอมรับ
3. โดดเด่นด้วยความแตกต่าง
สร้างสรรค์สินค้าให้มีความแตกต่าง โดดเด่น และเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นการใส่นวัตกรรม แนวคิด ความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ
4. สร้างเรื่องให้น่าจดจำ
เรื่องเล่าถือเป็นจุดเชื่อมสำคัญระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค สินค้า บริการ ตลอดจนการตกแต่งร้าน หรือรูปแบบบรรจุภัณฑ์ แม้กระทั่งเบื้องหลังของกระบวนการผลิต ประวัติความเป็นมา ล้วนส่งผลต่อความเชื่อมั่น การจดจำ และการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค
5. พลังแห่งการบอกต่อ
องค์รวมของสูตรลับทั้ง 4 ข้อที่ผ่านมา ก่อเกิดเป็นคำพูดอันทรงพลัง เมื่อแบรนด์สามารถสร้างความแตกต่าง ทั้งในด้านคุณภาพ เรื่องราว รวมไปถึงรักษาความน่าจดจำเหล่านั้นไว้ได้ ก็จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกพึงพ่อใจ ต่อยอดไปสู่การบอกต่อกันเป็นทอดๆ ส่งต่อเรื่องราวดีๆ ของแบรนด์ไปสู่ผู้บริโภครายอื่นๆ ได้ในวงกว้าง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมาก ที่จะสร้างการเติบโตให้แก่แบรนด์
“ 5 รหัสนี้ นับเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ไทยหลุดพ้นกับดักด้านการพัฒนาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ของผู้ประกอบการไทย ทั้งยังเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ ได้ใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอีกด้วย” รวิพัชร กล่าวทิ้งท้าย