Forever 21 เป็นยักษ์ใหญ่ธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นประเภท Fast Fashion รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ลอสแอนเจลิส มีร้านค้าปลีกสาขาทั่วโลกมากถึง 815 แห่งในสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ยุโรป, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์
อ้างอิงตามรายงานข่าวจากสำนักข่าว Bloomberg ว่า Foreever 21 กำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการยื่นขอล้มละลาย
แหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้กล่าวว่า Forever 21 ได้ดำเนินการเพื่อจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม แต่การเจรจากับผู้ให้กู้ที่เป็นไปได้นั้นไม่ประสบความสำเร็จ
ผู้ก่อตั้งได้ให้ความสำคัญกับการรักษาการควบคุมโดยรวมของบริษัทไว้ ซึ่งทำให้จำกัดตัวเลือกในการระดมทุน เมื่อตัวเลือกน้อยลง บริษัทได้เปลี่ยนความสนใจไปที่การเลือกปฏิบัติตามแนวทางบทบัญญัติที่ 11 เตรียมยื่นขอล้มละลายเพื่อยื่นคำร้องขออยู่ในสถานะ “ลูกหนี้ผู้ดำเนินการฟื้นฟูกิจการ (Debtor-in-Possession) ซึ่งต้องมี "การปรับโครงสร้างองค์กร (Reorganization)" ซึ่งในทางทฤษฎีให้มีการเริ่มต้นใหม่
ในสาระสำคัญของการยื่นขอล้มละลาย สามารถช่วยให้ Forever 21 ปล่อยมือจากสถานที่ที่มีผลการดำเนินการต่ำ และเพิ่มทุนให้กับธุรกิจของบริษัท
สำนักงานใหญ่ของ Forever 21 ในลอสแอนเจลิส เป็นหนึ่งในผู้เช่าห้างสรรพสินค้าอเมริกันที่ใหญ่ที่สุดที่ยังคงดำเนินงานท่ามกลาง "เหตุการณ์หายนะที่เกิดกับธุรกิจค้าปลีกอื่นจำนวนมาก" ซึ่งทำให้เราได้เห็นการปิดร้านค้าปลีกกว่า 8,000 แห่งในปี 2019 นี้
หนึ่งในนั้น บริษัทรองเท้าลดราคา Payless ยื่นขอล้มละลาย และประกาศแผนการปิดร้านค้าสาขาทั้งหมด 2,500 แห่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งในการเลิกกิจการเพื่อขายทรัพย์สินชำระหนี้สินของธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ อ้างอิงรายงานข่าวจาก Forbes
สำหรับ Forever 21 ก่อตั้งโดยคู่รักชาวเกาหลีใต้ Do Won Chang และ Jin Sook ในปี 1984 ธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่น Fast Fashion ของ Forever 21 ยึดตำแหน่งผู้นำด้านการค้าปลีกในวงการแฟชั่นอย่างรวดเร็วตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่นำไปสู่วิกฤตของตัวเองเกิดขึ้น
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้ก่อตั้งหลุดออกจากกลุ่มหาเศรษฐีพันล้านดอลลาร์ โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมของพวกเขาลดลงจาก 5.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2015 เป็น 1.6 พันล้านดอลลาร์ และ 800 ล้านดอลลาร์ในปีต่อๆ มา อ้างอิงข้อมูลจากบทความของ Forbes
นักวิเคราะห์ตั้งสมมุติฐานว่า มีหลายสาเหตุที่ทำให้บริษัทประสบภาวะตกต่ำอย่างรุนแรง หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัท ที่เป็นวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวเปลี่ยนพฤติกรรมการช้อปปิ้งโดยใช้เวลาน้อย ลงในร้านค้า
อีกประการคือ การขยายกลุ่มลูกค้าของบริษัทไปสู่ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชายและผู้บริโภคที่มีอายุมากกว่า ได้นำไปสู่การนำเสนอแบรนด์สินค้าที่สับสน ซึ่งอาจทำให้ฐานลูกค้าหลักผิดหวัง เพราะด้วยร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีสินค้ามากมาย ทำให้มันอาจเป็นเรื่องยากที่ลูกค้าจะค้นหาสินค้าที่ต้องการ
รวมทั้งการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ก็มีส่วนทำให้ยอดขายของ Forever 21 ลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดออนไลน์ เนื่องจากบริษัทเพิ่งเริ่มพัฒนาเว็บไซต์เมื่อเร็วๆ นี้ ขณะที่คู่แข่ง เช่น H&M, Zara และ Uniqlo สร้างเว็บไซต์ที่เป็น User-friendly ใช้งานง่ายกว่า และคู่แข่งที่เป็นแบรนด์ขนาดเล็กก็ใช้กลยุทธ์ Influencer Marketing อย่างหนักในการเอาชนะใจลูกค้า
Cr : NEXT SHARK
Source