ตลอดกว่า 2 ทศวรรษที่เชนโมเดิร์นเทรดระดับโลกแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในตลาดบ้านเรา รูปธรรมที่เห็นได้อย่างชัดเจน นอกเหนือจากการเข้ามาสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับตลาดในหลายๆ ด้านของเชนโมเดิร์นเทรดเหล่านั้น ก็คือ การปรับตัวของค้าปลีกท้องถิ่น โดยเฉพาะกับบรรดายี่ปั๊วในระบบเดิมที่วันนี้มีการปรับรูปแบบการขายออกมาเป็นแนว “ไฮบริด” ผสมผสานระหว่างการขายส่ง กับการขายปลีกหน้าร้านที่เป็นซูเปอร์สโตร์ จนสามารถหาที่ยืนได้อย่างแข็งแกร่งอยู่ในตลาด ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากศึกรอบด้าน
อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามขึ้นมากมาย ว่าหลังจากนี้ไป บรรดาค้าปลีกท้องถิ่นของบ้านเราจะไปในทิศทางไหน ยิ่งมีเรื่องของการเข้ามาดิสรัปท์ของดิจิทัลที่ทำให้แลนด์สเคปของตลาดค้าปลีกของบ้านเราเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก
มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ หรือ เฮียกบ ในฐานะผู้บริหารรุ่นที่ 3 ของ “ตั้งงี่สุน” ยี่ปั๊วรายใหญ่ของจังหวัดอุดรธานี ที่ถือเป็นท็อปยี่ปั๊วที่รับมือกับการรุกขยายสาขาเข้ามาของยักษ์โมเดิร์นเทรดได้อย่างน่าดูชม ให้มุมมองที่น่าสนใจถึงเรื่องนี้ว่า ยี่ปั๊วเป็นเสมือนธุรกิจกลางน้ำ ที่อยู่ตรงกลางระหว่างซัพพลายเออร์เจ้าของสินค้ากับลูกค้าที่เป็นร้านค้าย่อยหรือร้านโชวห่วย จะต้องทำให้ซัพพลายเชนนี้มีความแข็งแกร่ง และสามารถเติบโตไปด้วยกันได้ ซึ่งแม้เทคโนโลยีจะเข้ามาส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของลูกค้า แต่ร้านค้าโชวห่วยยังคงมีบทบาทสำคัญกับตลาดในระดับรากหญ้าในฐานะของช่องทางขายที่เข้าถึงพวกเขาได้ดีที่สุด
เฮียกบบอกว่า ลูกค้าของตั้งงี่สุน 60% จะเป็นร้านค้าย่อยที่ซื้อสินค้าเพื่อไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง ตั้งงี่สุน จึงไม่ได้แค่ขายสินค้า แต่ยังมีการพูดคุย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมกับคำแนะนำในการขายให้กับพวกเขา โดยสิ่งหนึ่งที่เน้นย้ำเสมอก็คือการให้มุมมองในการทำธุรกิจกับพวกเขาว่า อย่าทำตัวเป็นพ่อค้า แต่ให้ทำตัวเป็นนักธุรกิจ เพราะการทำตัวเป็นพ่อค้าจะนึกถึงแต่เพียงผลกำไร ถ้าทำตัวเป็นนักธุรกิจ จะมองถึงภาพรวมของชุมชนที่ตั้งอยู่ด้วย เพราะหากชุมชนมีความแข็งแรง ร้านค้าย่อยก็สามารถเติบโตไปด้วยกันได้อย่างแข็งแกร่ง
“ยี่ปั๊ว เป็นเหมือนธุรกิจกลางน้ำ ทางหนึ่งก็ต้องรับเป้าการขายจากซัพพลายเออร์เจ้าของสินค้า อีกทางหนึ่งก็ต้องดูในเรื่องของการบริหารจัดการสต็อคสินค้าให้ดี เพราะถ้ายอมรับเป้ามาในตัวเลขมากๆ สิ่งที่ตามมาก็คือสต็อคมันจะบวม แม้จะได้ส่วนที่เพิ่มมาคือรางวัลของแถมต่างๆ แต่ในท้ายที่สุดอาจจะไม่คุ้มกัน จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิด หรือแนวทางในการบริหารเรื่องนี้ใหม่”
สิ่งที่ตั้งงี่สุน ทำออกมาในเรื่องดังกล่าวนี้ก็คือ ไม่ได้มองถึงแค่การรับเป้าการขาย แต่ซัพพลายเออร์เองต้องมาคิดในการ Business Plan ร่วมกันว่าจะมีแผนในการขายหรือสนับสนุนการขายอย่างไร เพื่อให้สินค้ามันสามารถเดินได้ดีโดยไม่มีการแบกภาระสต็อคเพิ่มขึ้น เพราะสต็อคที่เพิ่มขึ้นนี้หมายถึงต้นทุนที่เพิ่มตามมา ยิ่งการทำธุรกิจของยี่ปั๊วที่ต้องแข่งขันกันรุนแรงมีเรื่องของมาร์จิ้นหรือกำไรค่อนข้างต่ำ จึงต้องบริหารจัดการในเรื่องนี้ให้ดี