แม้การเปลี่ยนแปลงจะเป็นเรื่องปกติในโลกการทำธุรกิจ แต่เชื่อว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาคงไม่มีใครคาดคิดว่าการเปลี่ยนแปลงจะรุนแรงรวดเร็วชนิดตั้งตัวไม่ติดขนาดนี้
สำหรับอสังหาเป็นธุรกิจที่เห็นได้ชัดว่าในหลายปีที่ผ่านมาดีเวลลอปเปอร์หลายรายทยอยถอยตัวออกไปจากตลาด แต่ท่ามกลาง Player ที่ลดน้อยลงไปไม่ได้ทำให้สถานการณ์การแข่งขันคลี่คลาย ตรงข้ามกลับรุนแรงมากกว่าเดิม กลายเป็นบทพิสูจน์ถึงความสามารถในการปรับตัวของดีเวลลอปเปอร์ที่เหลืออยู่
หนึ่งในนั้น ก็คือ “เอพี ไทยแลนด์” ที่ไม่เพียงแต่รักษาฐานที่มั่นในตลาดไว้ได้เท่านั้น แต่ยังเติบโตสวนกระแสตลาดถึงขนาดทำสถิติรายได้รวมมากกว่า 38,000 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา
แน่นอนว่า ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ เพราะกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เอพี ไทยแลนด์ ผ่านร้อนผ่านหนาวไม่ต่างจากดีเวลลอปเปอร์รายอื่น แต่สิ่งที่เป็นตัวตัดสินชี้ชะตาก็คือ ผู้นำองค์กรจะมีวิธีการออกแบบให้เป็นองค์กรที่ใช่เพื่อออกโปรดักต์ที่ใช่ให้กับลูกค้า และสร้างแบรนด์ที่ใช่ครองใจผู้บริโภคได้อย่างไร
Solid Walk Through Milestone
หากเราลองมองย้อนกลับไปในรอบ 20 ปี ในฐานะคนนอกเราจะเห็นว่า เอพี ไทยแลนด์ มี Milestone การเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญยังถือเป็นดีเวลลอปเปอร์รายแรกๆ ที่บุกเบิกตลาดทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียมก่อนที่รถไฟฟ้าจะก่อสร้างเสร็จเสียอีก หลังผ่านวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย เอพี สามารถฟื้นกลับเข้าสู่ธุรกิจอสังหาอย่างรวดเร็ว พร้อมเดินเกมตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาดทาวน์เฮาส์อย่างต่อเนื่อง เปิดตัวบ้านกลางเมืองภายใต้กลยุทธ์ Location in Location ที่สุดของทำเลในพื้นที่นั้นๆ เพื่อเชื่อมต่อทุกการเดินทางของคนเมือง ควบคู่ไปกับการพัฒนาสเปซที่เข้าใจคนเมือง
ถัดมาปี 2002 คว้าที่ดินใจกลางทองหล่อ ศูนย์กลางธุรกิจที่ Connect ทุกอย่าง สร้างบ้านที่อยู่กลางกรุง บ้านที่อยู่กลางเมืองของจริงกับโครงการบ้านกลางกรุง ทองหล่อ เป็นการวางจุดยืนให้กับเอพีในฐานะผู้นำตลาดพรีเมียม ตามมาด้วยการเดินเครื่องรุกตลาดคอนโดติดรถไฟฟ้าอย่างจริงจังกับแบรนด์ Life Condo ปี 2014 เพิ่มมุมมองใหม่ในการพัฒนาสเปซด้วยการร่วมมือกับ Mitsubishi Estate Group บริษัทพัฒนาอสังหาชั้นนำของญี่ปุ่น คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และปี 2015 สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับธุรกิจอสังหาด้วยการเปิดสถาบันการเรียนรู้ด้านอสังหาแห่งแรกในประเทศไทยภายใต้ชื่อ AP Academy ให้เป็นแหล่งพัฒนาคุณภาพคน และสร้างโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่
ในความเป็นจริงการที่จะทำให้ Milestone เติบโตต่อเนื่องได้ จำเป็นต้องมาจากวิธีคิดในการปรับตัวให้เป็นองค์กรที่ใช่ และวิธีการผ่าทางตันของธุรกิจเพื่อสร้าง New S Curve
เพราะในมุมมองของคนทำธุรกิจในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา คุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) พบว่าทุกๆ 5 ปี มักจะเจอกับปัญหาที่ทำให้องค์กรเกิดการสะดุดทุกครั้ง เขาเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นทางตันที่เกิดมาจากการหลอมรวมของปัญหาต่างๆ ทั้งขนาดองค์กร ทีมงาน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และคู่แข่งขัน
“ผมเชื่อว่ามันเป็นวงจรของทุกธุรกิจ ไม่มีบริษัทไหนที่เติบโตแบบสมูท แต่จะเป็นการเติบโตแบบขั้นบันได เมื่อมีจุดตันแล้วผู้นำต้องหาทางออกให้เจอ เมื่อหาเจอก็จะทำให้ผลประกอบการเพิ่มขึ้นอีกครั้งจุดตันแรกสำหรับผมเกิดในปี 2003 ตอนที่บริษัทมีรายได้เกือบ 5,000 ล้านบาท แล้วเติบโตไปต่อไม่ได้มาก และเราพบว่าปัญหาเกิดมาจากการที่ผมรันธุรกิจคนเดียวหมดทั้งดีไซน์โปรดักต์ จนไปถึงทำโฆษณาเอง ซึ่งเมื่อเวลา
ผ่านไป เราก็ควรถอยออกมาให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่เข้าใจตลาดและกลุ่มเป้าหมายมากกว่าเป็นคนวางแผนจุดตันต่อมาเมื่อเอพีแตะยอดขาย 10,000 ล้านบาทปัญหาที่ตามมาคือ โครงสร้างองค์กรจุดตันที่ 3 ช่วงที่เอพีไต่ถึงยอด 15,000 ล้านบาท มาจากทีมงานและเมื่อถึงเป้า 20,000 ล้านบาท ตอนนั้นเราเจอกับปัญหาเรื่องวิธีการทำงาน ผมว่าแต่ละเฟสของบริษัทจะมีจุดตันของตัวเอง สำหรับวิธีที่ทำให้ผมผ่านอุปสรรคมาได้ ผมจะท่องในใจเสมอว่า ความสำเร็จเป็นเพียงแค่อดีต นี่คือบทเรียนบทหนึ่ง ผมมักจะไม่ใช้คำว่าประสบความสำเร็จกับคนในองค์กร แต่จะใช้คำว่า เราเฉลิมฉลองกับเป้าหมายที่เราได้วางไว้ได้ แต่อย่าเฉลิมฉลองความสำเร็จ เพราะผมอยากให้คนในองค์กรภูมิใจในตัวเอง โดยไม่หยิ่งผยองหรือหลงใหลไปกับความสำเร็จนั้นๆ”
Outward Mindset + Design Thinking
The Key Ingredient
กับจุดตันล่าสุดของเอพีเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน และจุดตันนั้นก็คือ วัฒนธรรมองค์กร นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณอนุพงษ์นำ Outward Mindset เข้ามาแก้ไขปัญหา จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้เอพีเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัดทั้งในแง่รายได้ และรางวัลที่ได้รับการยอมรับจากเวทีต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ
คุณอนุพงษ์ เล่าว่า จุดตันดังกล่าวมาจากการเป็นองค์กรขนาดใหญ่ของเอพีที่มีพนักงานกว่า 2,000 คน ประกอบไปด้วยหน่วยงานต่างๆ และคนทำงานในหลายเจนเนอเรชั่น ซึ่ง Outward Mindset จะเข้ามามีบทบาทหน้าที่เป็นกลไกในการเชื่อมโลกเก่ากับโลกใหม่ รวมถึงเชื่อมใจคนจากหลายหน่วยงานให้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขปราศจากความขัดแย้ง
“ในทฤษฎี Outward Mindset คือการมองคนเป็นคน เพราะแม้จะไม่มีปัญหาเรื่องคนรุ่นเก่าคนรุ่นใหม่ก็ตาม แต่องค์กรทุกแห่ง โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่จะมีคอร์ปอเรทไซโล ต่างคนต่างมีกลุ่มก้อนของตัวเอง ซึ่งไม่ต่างไปจากการแบ่งกลุ่มคนในรุ่นต่างๆ ที่ผ่านมาผมมักเจอกับปัญหาฝ่ายการเงินไม่เข้าใจฟรอนท์ไลน์ ต่างคนต่างไม่เข้าใจกันเหมือนกัน แต่ทั้ง 2 ฝั่งต่างมีดีด้วยกันทั้งคู่ Outward Mindset จึงเข้ามาเป็นตัวช่วยในการมองคนเป็นคน แปลว่าเวลามีปัญหาขัดแย้งแต่ละฝ่ายให้เริ่มต้นมองเขาด้วย 3 ประเด็นนี้ก่อน คือ คนๆ นั้นมีจุดประสงค์อะไร หรือต้องการอะไรใน Objective, มีความต้องการหรือ Need อะไร และความท้าทาย Challenge ของเขาคืออะไร ซึ่งการจะเข้าใจ 3 เรื่องนี้ได้ต้องอาศัยการถามเยอะๆ ฟังเยอะๆ เพื่อให้เกิดการทำความเข้าใจ ถ้าแย้งสามารถตอบ 3 ข้อนี้ได้ก็จะสามารถหาทางออกร่วมกันได้ด้วยความเข้าใจกัน ซึ่งผมใช้ Outward Mindset เป็น Key Ingredient ขององค์กรที่บังคับให้ทุกคนต้องเรียนและฝึก”
ในขณะที่ Outward Mindset ถูกนำมาใช้เป็นตัวเชื่อมในด้าน Soft Skill คุณอนุพงษ์ก็ยังนำ Stanford Design Thinking มาเป็นแกนหลักของบริษัทอีกแกนหนึ่งเพื่อเป็นตัวช่วยในด้าน Hard Skill ผ่านการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยถือเป็นหนึ่งในหลักสูตรที่ให้พนักงานเอพีต้องเรียนเช่นกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดกระบวนการทางความคิดที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมดีไซน์ใหม่ๆ โดย Stanford Design Thinking ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนคือ Empathy/Define/Ideate/Prototype/Test เกิดเป็นการเรียนรู้ที่มาพร้อมคอนเซ็ปต์ที่ว่า Fail Fast, Fail Cheap, Fail Forward
คุณอนุพงษ์ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของ Design Thinking อยู่ที่ Empathy แล้วเคล็ดลับของ Empathy คือการฟังเยอะๆ 80% ต้องให้ลูกค้าเป็นฝ่ายพูด อันนี้เป็นจุดที่ต่างจาก Qualitative Research ในอดีต ซึ่งส่วนใหญ่ Moderator จะไกด์คำถามและเป็นฝ่ายที่ พูดเยอะ เพราะตัวเองมีโจทย์ในใจอยู่แล้ว แต่ Design Thinking มีโจทย์แรกเพียงโจทย์เดียว และเป็นโจทย์ที่กว้าง เพื่อให้เกิด Go with the Flow ไปตามลูกค้า เหมือนการฟังนิยายเรื่องหนึ่งของเขาแล้วเอพีมีหน้าที่ตีความตอนท้ายในขั้นตอน Define เพื่อหา Problem Statement ถ้าหาไม่เจอจะทำให้ Ideate ซึ่งเป็น Step ถัดไปล้มเหลวทันที
“มันเป็น Mentality ใหม่ของเราอย่างหนึ่งว่าเราไม่จำเป็นจะต้องถูกเสมอเพราะ Design Thinking เป็นกระบวนการที่ย้อน Step กลับไปกลับมาได้ ทุกครั้งที่ Step ไหนผิด ให้ย้อนกลับไป Step ก่อนหน้านี้ เพราะเวลาคุณ Define คุณไม่รู้หรอกว่าถูกหรือไม่ถูกในครั้งแรก แต่คุณต้องกลับไปหา Fail ให้เจอกลับไปทำให้ถูกแม้กระทั่งเวลาทำ Prototype เสร็จแล้ว คุณก็จะได้ Empathize ลูกค้ากลับมาอีกทีหนึ่ง แล้วย้อนกลับไป Step อื่นๆ ได้สิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก Design Thinking อีกอย่างหนึ่งเราเรียนรู้ Fail Fast, Fail Cheap, Fail Forward ยกตัวอย่าง ปีที่แล้วผมปล่อยให้โปรเจ็กต์หนึ่งค้างเติ่ง เพราะมัวเกรงใจลูกน้อง แต่พอหลังจากนำกระบวนการ Design Thinking มาใช้ หากเกิน 3 เดือน 6 เดือนแล้วยังพัฒนาสินค้าไม่ได้ เราพร้อมตัดทิ้งไปหาอะไรอย่างอื่นทำซึ่งจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า และวิธีนี้ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าดีสำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะเขาอยากมี Achievement ที่ไม่ต้องใหญ่โต แต่ Achievement ไปทีละขั้น อย่างน้อยให้เขารู้สึกว่ามีเป้าหมายไปเรื่อยๆ”