ภูษิต เล่าต่อว่า การได้พันธมิตรระดับโลกเข้ามาทำให้ เอ็กซ์โปลิงค์ ได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้ารวมถึงหน่วยงานต่างๆ และผลจากการที่บริษัท โคโลญ เมสเซ่ ที่เข้ามาถือหุ้น ในรูปแบบที่เปิดโอกาสให้บริษัทสัญชาติไทยสามารถจัดงานแสดงสินค้าเองได้ อีกอย่างคือ ทำให้ เอ็กซ์โปลิงค์ สร้างเครือข่ายของธุรกิจใหม่ๆ และต่อยอดออกไปได้อย่างกว้างขวาง ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นงานที่จัดร่วมกันเท่านั้น นับเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้บริษัทเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนทั้งผลประกอบการ รายได้ และกำไรที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงลักษณะงานในกลุ่ม Segment ใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายมากกว่าเดิม
บางครั้งการเติบโตในแง่ของเม็ดเงินก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน แต่ด้วยการมีวิธีคิดที่ชัดเจนเข้าใจและมองลึกถึงแก่นของอุตสาหกรรม ไม่ได้คิดหรือทำแบบฉาบฉวยให้จบเป็นงานๆ แต่ เอ็กซ์โปลิงค์ วางธุรกิจอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน อีกทั้งยังมองเป็นระดับ ตั้งแต่ระยะสั้น ระยะกลาง ไปจนถึงระยะยาว ที่มีความเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแบบเป็นระบบ ทำให้ทิศทางการขับเคลื่อนของ เอ็กซ์โปลิงค์ คือการไปในเส้นทางการขยายการเติบโตทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืนขององค์กร หรือ Corporate Sustainability
ภูษิต อธิบายในเรื่องดังกล่าวว่า เรามองเรื่องความยั่งยืนออกเป็น 2 มุม คือตั้งแต่ Macro ที่เป็นทิศทางและงานของ เอ็กซ์โปลิงค์ ที่เลือกจัดงานเกี่ยวกับอาหาร องค์กรได้วางแผนครบทั้ง Supply Chain ของตลาดอาหารและเครื่องดื่ม อย่างงานที่ได้บริหารให้กับ มูลนิธิ Victam Foundation ของเนเธอแลนด์ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถเชื่อมโยงงานด้านอาหารไปสู่ต้นทางการผลิตอาหาร ซึ่งคืองาน Victam Asia และ Grapas Asia งานด้านเทคโนโลยีอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมการแปรรูปข้าว แป้ง ธัญพืช อาหารสัตว์ อาหารสัตว์น้ำ และอาหารสัตว์เลี้ยง ที่นับเป็นอีกหนึ่งงานใหญ่ในระดับภูมิภาคอาเซียน
ส่วนในระดับ Micro ที่เชื่อมโยงกับทิศทางนโยบายของประเทศ เอ็กซ์โปลิงค์ ก็ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะงานที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนกับตัวชี้วัดเทรนด์ในอนาคตของเรื่องต่างๆ อย่างเรื่องของ Logistics ถ้าย้อนกลับไป 10 ปีก่อน อาจจะไม่มีใครเข้าใจและให้ความสำคัญมากนัก แต่ เอ็กซ์โปลิงค์ มองภาพและคาดการณ์ในเรื่องนี้ว่า จะต้องมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ก็เลยมีงานอย่าง LogiMAT Intelligent Warehouse เกิดขึ้นมารองรับเทรนด์ของเรื่องดังกล่าว โดยในงานมีการแสดงเทคโนโลยีด้านโลจิสติคส์ คลังสินค้า และระบบจัดการ ซึ่งการจัดงานได้ร่วมมือกับ ยูโร เอ็กซ์โป และ เมสเซ่ สตุ๊ตการ์ท ผู้นำด้านการจัดงานด้านโลจิสติกส์ใหญ่ที่สุดในโลก
“ในการจัดงานแสดงสินค้าต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐด้วย ไม่ล้ำจนตามไม่ทัน หรือไม่ล้าจนไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง
งานที่จัดจะต้องเป็นงานที่ประเทศมีการสนับสนุนอย่างเต็มที่ มีผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้จำหน่ายมากเพียงพอ และเป็นตลาดที่สำคัญสามารถ ยกระดับจากงาน Domestic ไปสู่งานระดับ International ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่เข้าไปจัดงานที่สอดคล้องกับทิศทางของประเทศตลาดนี้ก็จะไม่เติบโต มันเป็นเหมือนกับจุดเริ่มต้นที่จะช่วยกระตุ้นและสร้างให้ตลาดมีความยั่งยืนต่อไป”