ศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี.เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) กล่าวว่าประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของประชากร ที่กำลังก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมผู้สูงวัย” (Aged society) อย่างสมบูรณ์และในอีก 20 ปีข้างหน้าสังคมผู้สูงอายุจะโตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จากปัจจัยของคู่รักที่ไม่นิยมมีบุตร และอัตราการเกิดลดน้อยลง ขณะเดียวกันพบว่าการแพทย์มีการพัฒนามากขึ้น จึงเป็นเหตุผลให้ผู้สูงวัยมีอายุยืน และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย ปี 2561 อยู่ที่10,666,803 ล้าน คิดเป็นร้อยละ 15จากจำนวนประชากรทั้งหมดของไทยและคาดว่าในปี 2564 จะเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร ส่งผลให้สถานการณ์ตลาดผู้สูงอายุมีแนวโน้มการเติบโตในกลุ่มธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการผู้สูงอายุ อาทิผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ธุรกิจการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจเนอร์สซิ่งโฮมและโฮมแคร์ ธุรกิจความงาม ธุรกิจการวางแผนทางการเงิน เป็นต้น ขณะที่ความต้องการด้านการดูแลรักษาสุขภาพของประชากรโลกก็มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน ประกอบกับประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางของคนสูงวัยจากทั่วโลกต้องการเข้ามาท่องเที่ยว พักผ่อน หรือใช้ชีวิตยามบั้นปลาย เนื่องจากไทยตั้งอยู่บนพื้นที่เขตอบอุ่น ไม่หนาว บวกกับความได้เปรียบในเรื่องของ อาหาร เมดิคัลแคร์ เซอร์วิส และการบริการที่ดีเยี่ยมพร้อมกับราคาที่ไม่แพงมาก จึงเป็นโอกาสให้กับประเทศไทย ที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจเชิงสุขภาพ (Wellness Economy) เติบโตเป็น Medical Hub หรือศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ
ตลาดกลุ่มสินค้าและธุรกิจบริการสุขภาพในประเทศไทย มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 107,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาพบว่าตลาดคนไข้ต่างชาติของโรงพยาบาลเอกชนไทยมีผู้ใช้บริการกว่า 3.42 ล้านครั้งในปี 2561 โดยแบ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวพร้อมกับรักษาพยาบาล หรือ Medical Tourism 2.5 ล้านครั้ง และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย หรือ Expat 9.2 แสนครั้ง ตลาดสำคัญยังเป็นลูกค้าชาวเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เมียนมา กัมพูชา และจีน ซึ่งจะเข้ามาชดเชยรายได้กลุ่มคนไข้จากตะวันออกกลางที่มีจำนวนลดลงต่อเนื่องและมีแนวโน้มหดตัว หากพิจารณาสัดส่วนคนไข้ชาวต่างชาติที่มาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนไทยพบว่ากลุ่มตะวันออกกลางยังครองส่วนแบ่งสูงสุดที่ 12.5% รองลงมาคือเมียนมา 8.7% สหรัฐอเมริกา 6.2% สหราชอาณาจักร 5% ญี่ปุ่น 4.9% และกัมพูชา 2.2% สะท้อนกำลังซื้อของประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนที่มีศักยภาพและเป็นโอกาสในการรุกตลาดสุขภาพของผู้ประกอบการไทยได้เช่นกัน