4. ความสูญเสียจากการมีขั้นตอนการทำงานที่มากเกินไป (Over processing)
ความสูญเสียที่เกิดจากการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันหรือมีขั้นตอนที่มากเกินไปนั้น สามารถพบได้บ่อยๆในร้านอาหารที่ไม่มีการระบบการทำงานให้ดีตั้งแต่แรก ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียทั้งเวลาและกำลังคนไปโดยเปล่าประโยชน์
การเสียเวลาจัดเก็บวัตถุดิบที่ซ้ำซ้อนเช่น เมื่อเวลาของเข้าเรานำวัตถุดิบไปเก็บในที่ที่นึง และเมื่อถึงเวลากลับนำมาเก็บในตู้เย็นอีกที่ หรือการที่พนักงานตัดแต่งผักเตรียมไว้เพื่อรอนำมาปรุง แต่เชฟกลับนำผักที่ตัดแต่งแล้วมาหั่นอีกรอบ หรืออย่างร้านอาหารประเภท fine dining ที่อาจมี head chef มาคอยเช็คอาหารทุกจานก่อนออกเสิร์ฟซึ่งเชฟแต่ละสเตชั่นก็ได้ตรวจตราหลังปรุงเสร็จอยู่แล้ว
เหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดยการกำหรดรูปแบบการทำงาน ผู้รับผิดชอบ สเปคของวัตถุดิบให้ชัดเจนตั้งแต่แรกก็จะช่วยลดการขั้นตอนการทำงานที่มากเกินไปและลดความซ้ำซ้อนลงไปได้
5. ความสูญเสียจากการจัดการวัตถุดิบ (Inventory)
ความสูญเสียด้านวัตถุดิบคือหนึ่งในความสูญเสียที่มากที่สุดของร้านอาหารเพราะวัตถุดิบเป็นของที่มีอายุจำกัด หากไม่มีการวางแผนการสั่งวัตถุดิบหรือการเก็บรวมถึงวางแผนการใช้ให้ดีแล้ว อาจทำให้ร้านอาหารถึงขั้นขาดทุนเลยก็เป็นได้
หลายร้านที่เลือกสั่งวัตถุดิบคราวละมากๆเพื่อลดจำนวนการสั่งและหวังจะได้ราคาที่ถูกลง แต่ก็อาจเสี่ยงกับการที่ใช้วัตถุดิบไม่หมดซึ่งอาจเกิดการเน่าเสียและสิ้นเปลืองรวมไปถึงอาจต้องมาปวดหัวเรื่องบริหารจัดการสต๊อก
ตัวอย่างความสูญเสียด้านวัตถุดิบง่ายๆที่ทุกร้านอาหารต้องเจอก็คือ ผัก หลายร้านจะซื้อผักแล้วมาล้างตัดแต่งเองเพราะคิดว่าต้นทุนต่อกิโลกรัมถูกกว่า แต่แท้จริงแล้วการที่เรานำมาตัดแต่งเองนอกจากจะเกิดการสูญเสียด้านวัตถุดิบมากแล้ว ยังสูญเสียทั้งเรื่องเวลา กำลังคน อีกด้วย ซึ่งบางทีพอนำกลับมาคิดเป็นต้นทุนแล้ว การที่เราซื้อผักที่ผ่านการตัดแต่งมาแล้ว ถึงราคาอาจจะแพงกว่าปกติระดับนึง แต่ก็สามารถช่วยลดการสูญเสียต่างๆลงได้มาก
อีกวิธีนึงที่จะช่วยทำให้จัดการวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการทำ FIFO (first in-first out) จะช่วยทำให้วัตถุดิบที่รับเข้ามาก่อนถูกนำมาใช้ก่อน เจะช่วยลดการหมดอายุของวัตถุดิบลงไปได้
6. ความสูญเสียจาการเคลื่อนไหว (Motion)
เคยเห็นเวลาอาเฮียที่เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวเป็นสิบๆปีลวกก๋วยเตี๋ยวหยิบเส้นหยิบจานโดยไม่ต้องมองหรือเอื้อมมือไปหยิบมั้ย? แล้วเคยสังเกตคนที่เพิ่งเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวใหม่ๆ ที่เวลาจะหยิบจับอะไรก็ดูเก้งกังๆ ของวางไม่ถูกตำแหน่งบ้างรึเปล่า? สิ่งนี้แหละที่เรียกว่าความสูญเสียจากการเคลื่อนไหว (motion) ความสูญเสียนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากทั้งทางหน้าบ้านและหลังบ้าน(ครัว)
การวางตำแหน่งตู้เย็นที่ไม่สอดคล้องกับการทำงาน การจัดวางอุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม ทำให้ผู้ใช้งานจะต้องเดินไปหยิบหรือเอื้อมไปหยิบตลอดเวลาซึ่งนอกจากจะทำให้งานสะดุดแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้งานด้วย
ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ หากมีสังเกตการทำงานในแต่ละกระบวนการอย่างละเอียดว่ามีตรงไหนจัดวางไม่เหมาะสมหรือ flow การทำงานไม่ดีบ้าง แล้วนำมาปรับปรุงจัดวางใหม่ให้สามารถทำงานได้โดยไม่เสียการเคลื่อนไหวที่เกินความจำเป็น ซึ่งนอกจากจะลดเวลาการทำงานลงแล้วยังทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อีกทาง