9. ในเมื่อเทรนด์เป็นแบบนี้ หมายความว่าจากนี้ต่อไปผู้ประกอบการอสังหาจะมุ่งหน้าไปสู่การเป็น PropTech ?
ผมไม่เคยมีคำว่า PropTech ไม่ใช่ไม่เชื่อนะ PropTech คือการเอาเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เราต้องตอบคำถามนี้ก่อนว่าใช้เพื่ออะไร วันนี้ผมเจอปัญหาแบบนี้ ผมส่งคนไปดูงานเทคโนโลยีมากมาย ผมกล้าท้าเลยว่าคุณเดินในงานคุณจะ Wow มาก นี่ก็น่าใช้ นี่ก็น่าเอามา เฮ่ย..นั่นก็เจ๋ง มัน PropTech ทั้งนั้นเลย แต่มันตอบโจทย์อะไร
วิธีการทำงานของเรา เราเน้นสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า เราใช้แกนในการสร้างนวัตกรรมขององค์กรผ่าน Design Thinking
Design Thinking มันจะมี 5 ขั้นตอน คือ Empathy (ทำความเข้าใจ) Define (นิยามและตีความปัญหา) Ideate (คิดสร้างสรรค์) Prototype (สร้างต้นแบบ) Test (ทดสอบ) Design Thinking ทำขึ้นมาเพื่ออะไรก็เพื่อตอบโจทย์ Unmet Need ของผู้บริโภค เพราะฉะนั้นโจทย์ใหญ่ของธุรกิจอสังหาตอนนี้คืออะไร
คำตอบคือ คุณต้องหาความต้องการของผู้บริโภคให้เจอ ถ้าหาไม่เจอคุณตาย เทคโนโลยีทั้งหลายที่คุณดึงเข้ามาใช้มันดูสนุกสนาน แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องดูว่าตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคหรือไม่ ผมยังจำได้เลยเราเคยคิดเองเออเองแล้วส่งมอบให้ลูกค้าปรากฏว่าลูกค้าไม่ใช้ เพราะว่าเราคิดเองเออเอง
เพราะฉะนั้น Property Tech ก็ไม่ต่างอะไรจากตรงนี้ มันอาจจะดูหวือหวา ดูน่าตื่นเต้น แต่ว่ามันใช่หรือเปล่านี่อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าคุณเดินตาม Design Thinking ตามขั้นตอน ตัวอย่าง เช่น ขั้นตอนการสร้างต้นแบบเราไม่ต้องคิดว่ามันจะทำได้หรือไม่ได้ แต่เราต้องสร้างสรรค์ต้นแบบที่มี User Experience แล้วนำไปทดลองใช้
ตอนที่ผมเรียนหลักสูตร Design Thinking เขาให้คิดว่าทำอย่างไรเด็กถึงจะเข้าเครื่อง MRI โดยไม่เกิดความกลัว ตอนนั้นมีการคิดไปไกลถึงกระทั่งให้เครื่อง MRI เป็นกระสวยอวกาศ หรือเอา Concept หนังเรื่อง Transformers ที่มีโลกพระจันทร์เข้ามาเกี่ยวข้อง วิธีการคิดของ Design Thinking จะนิยมใช้คำว่า Yes and... เสมอ พอเราเข้าใจวิธีคิดตรงนี้เราถึงจะเลือกส่งคนเราไปดูเทคโนโลยีที่ลาสเวกัส เพื่อดูเทคโนโลยีที่เหมาะสม
เพราะฉะนั้นผมจึงไม่ตื่นเต้นกับคำว่า PropTech แต่ผมจะตื่นเต้นกับเทคโนโลยีที่สามารถมาตอบโจทย์ Unmet Need ของผู้บริโภคได้ ซึ่งโลกในปัจจุบันนี้มันมีข้อดีอย่างหนึ่งก็คือ ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ทำไม่ได้แล้ว เรามี Startup ทั่วโลกที่สามารถดึงมาเป็น Partner ได้ที่สามารถส่งมอบเทคโนโลยีจนทำให้ต้นแบบของผมเกิดขึ้นได้จริง
จากประสบการณ์ที่ผมไปเรียนมา Startup 10 บริษัทไปไม่รอด 9 บริษัท ถามว่าผมรวยขนาดยอมเจ๊ง 9 บริษัทหรือไม่หล่ะ ที่สำคัญก็คือ Startup จะประสบความสำเร็จ เขาจะขายเทคโนโลยีให้เราเพียงคนเดียวไม่ได้ นั่นหมายความว่าผมกำลังหา Technology ให้คู่แข่งผมใช้ไปพร้อมๆ กันจริงหรือไม่จริง
อย่าลืมว่า Start Up ต้อง Scale Up ด้วย นั่นแปลว่าคู่แข่งเราได้ด้วย เพราะฉะนั้นผมมองอีกด้านหนึ่ง ใครอยากลงทุนลงไป ผมขอเลือกที่จะซื้อเทคโนโลยีดีกว่า เพราะฉะนั้นเกี่ยวกับเรื่องนวัตกรรมนโยบายของเราคือการหา Unmet Need ให้ได้ แล้วทำต้นแบบให้ได้ ทำแนวคิดให้เป็นของจริงให้ได้ด้วยการค้นหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม
มันมีคำสองคำที่เหมือนจะขายแต่ต่างกันโดยสิ้นเชิงคือ คำว่า Innovation กับ Invention เราไม่ใช่ Inverter แน่นอน เราไม่ใช่โทมัส เอดิสัน Startup หลายคนเป็น Inventor แต่ AP เป็น Innovator คือการเอาแพะแกะไก่หมูมาผสมกัน เคี่ยวจนกลายเป็นซุปที่โคตรอร่อย นั่นคือเรา นั่นคือสิ่งที่เราทำ
10. พอพูดเรื่อง Design Thinking จะมีคำว่า Agile เข้ามาเกี่ยวข้อง ตรงนี้มองอย่างไร เราต้องยกเลิกไซโลแบบเดิมเลยหรือไม่ ?
มีใครไม่เป็นไซโลบ้าง ผมถาม อย่าเพิ่งไปพูดถึงเรื่อง Agile 3 ปีที่แล้วผมเจอปัญหาในการทำงานมโหฬาร อย่าพึ่งไปพูดถึงเรื่อง Agile เอาแค่คนในองค์กรไม่ตบตีกันก็ยากแล้ว
ผมเจอปัญหาโลกแตกบ่อยมาก เป็นคุณจะตัดสินอย่างไร ทางการเงินเข้าไปดูงานบอกโครงการนี้มี Budget ให้ 100 ล้านบาท ให้ Marketing ทำการตลาด ทำไมถึงไตรมาสที่ 3 จะเข้าไตรมาสที่ 4 ใช้เงินไปแล้ว 80 ล้าน แต่ยอดขายได้แค่ 60 ล้าน การเงินก็บอกว่าถ้าอย่างนั้น 20 ล้านที่เหลือตัดทิ้งไม่ต้องใช้ เพราะใช้ไปก็ไม่ถึงเอาเงิน 20 ล้านมาเติม Bottom Line จะได้กำไรเพิ่มขึ้น ฝ่ายการตลาดก็บอกว่าคุณไม่ให้ผมใช้อีก 20 ล้านที่เหลือคุณรู้ได้ไงว่าผมจะทำยอดได้ไม่ถึง 100 ล้าน เรื่องแบบนี้ใครจะพิสูจน์ใครจะเป็นคนตัดสิน
โอ้โห...คนตายคือใครรู้ไหม คนที่อยู่ตรงกลางหรือผมเอง คือตัดสินใจทางไหนก็โดนอีกทางหนึ่งน้อยใจ ผมเจอปัญหาแบบนี้เยอะมาก
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เราเจอปัญหาแบบนี้เยอะมากมันไม่ใช่เรื่องแค่ไซโล ผมเชื่อว่าบริษัทในเมืองไทยจะเจอปัญหานี้เยอะมาก เราโตจากบริษัท 100 คน เป็น 2,000 คน หนีพ้นหรือไม่ที่ต้องรับคนระดับกลางเข้ามา หนีพ้นไหมที่จะต้องรับคนระดับผู้บริหารเข้ามา แต่ละคนก็มาจากหลายสาขาจากหลายประสบการณ์ หลายคนที่เราดึงมาร่วมงานเขาอยู่กับองค์กรเดิมมานานมากจนวัฒนธรรมองค์กรหล่อหลอมเป็นของเก่า บางคนอยู่มา 15 ปีถูกหล่อหลอมให้เป็นคนขององค์กรนั้นๆไปแล้ว พอมาอยู่กับเราก็ต้องปรับตัว บางคนก็ปรับตัวได้บางคนก็ปรับตัวไม่ได้คน บางคนรู้สึกว่าการชนกันการเถียงกันในงานเป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะทำให้องค์กรเดินได้ บางคนมาจากองค์กรฝรั่งเขาตบตีกันได้ แต่บางคนอยู่กับองค์กรแบบไทย การตบตีกันแล้วตามมาด้วยการอาฆาต คุณนึกออกไหมเราเจอแบบนี้มาเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว
ก่อนหน้านั้น ผมเป็นคนที่เกลียดการเมืองในองค์กรมาก มีการเมืองที่ไหนผมจัดการเรียบ ผมเอาตาย แต่สิ่งที่ผมเจอ ก็คือผมกลายเป็นตัวการเมืองเอง เพราะกลายเป็นว่าทุกคนเล่นการเมืองผ่านตัวผม คนนู้นก็พี่ผมมีปัญหาอย่างนี้ คนนี้ก็พี่ผมมีปัญหาแบบนี้ ผมก็ OK ได้ทำเลย เพราะมีปัญหาจริงๆ
สิ่งที่ตามมาก็คือ พี่ให้คนนู้นได้ให้ผมด้วยสิ แต่คุณไม่มีปัญหา ไม่ได้พี่แบบนี้ก็ไม่แฟร์ พี่ต้องให้ผมด้วย กลายเป็นว่าผมเป็นตัวกลางของการเมืองโดยไม่รู้ตัว ผมโดนลูกน้องเกลียด และรักในเวลาเดียวกัน ไม่ชอบเวลาเราที่ไม่ให้ในสิ่งที่เขาต้องการและรักเวลาที่เราให้ในสิ่งที่เขาต้องการ ถ้าคุณลองย้อนกลับไปดูตัวเลขผลประกอบการในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จะรู้ว่ายอดโตมันติดขัดจริงๆ เพราะเกิดปัญหาภายในมาจากคำว่า ทุกคนล้วนอยากได้สิ่งที่ตัวเองต้องการซึ่งอาจจะไม่ใช่การเมืองก็ได้