ทางด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต ทางปตท. ได้มีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในทางการตลาด ด้วยการนำผลผลิตจากโครงการทั้งสตรอเบอรี่ และพันธุ์ไม้เมืองหนาว เช่น ลิลลี่, ทิวลิป และกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิส ไปทดลองจัดแสดงและทดลองวางขายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งก็ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี ก่อนที่จะพัฒนามาสู่การจัดงาน “มหัศจรรย์ไม้เมืองหนาว : ทิวลิปบานที่ระยอง” ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งถือเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของไทย
งานมหัศจรรย์ไม้เมืองหนาว : ทิวลิปบานที่ระยอง ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 แล้ว โดยงานมหัศจรรย์ไม้เมืองหนาว ครั้งที่ 7 ในปีที่ผ่านมามีผู้เข้าชมงานถึง 90,973 คน มียอดเงินบริจาคที่ได้จากการจัดงานทั้งหมด 3,091,738 บาท ซึ่งทางปตท.ได้มอบเงินทั้งหมดให้กับศูนย์บริการสาธารณสุข เทศบาลเมืองมาบตาพุดสำหรับซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์
สำหรับงานมหัศจรรย์ไม้เมืองหนาวครั้งที่ 8 นี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-21 เมษายน 2562 ณ สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีการนำดอกทิวลิปกว่า 120,000 และดอกไม้เมืองหนาวหลากสายพันธุ์ ที่สามารถนำมาปลูกได้ในอากาศเมืองร้อนอย่างประเทศไทย เช่น ดอกลิลลี่ ดอกแดฟโฟดิล ดอกไฮยาซินธ์ ดอกไฮเดรนเยีย ดอกดิจิทาลลิส ดอกเจอราเนียม ดอกไซคลาเมน ฯลฯ มาจัดแสดงเป็นสวนดอกไม้บนพื้นที่กว่า 4,500 ตารางเมตร ภายใต้แนวคิด “The Charming of Wonder Village”
โดยค่าเข้าชมงานคนละ 40 บาท ในปีนี้จะนำไปจัดซื้ออุปกรณ์และสาธารณูปโภคให้กับกองทุนสนับสนุนการจัดบริการศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและพิการ เมืองมาบตาพุด โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ
ความสำเร็จของโครงการนี้ นอกเหนือจากการนำพลังงานความเย็นที่เหลือใช้ในกระบวนการแปรสภาพก๊าซ LNG กลับมาสร้างประโยชน์ให้กับภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนส่วนใหญ่ในประเทศแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรเกี่ยวกับพืชเมืองหนาวในประเทศไทย เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรและผู้สนใจในประเทศ ได้นำไปศึกษาต่อยอดเป็นแนวทางสู่การสร้างอาชีพ และสร้างรายได้แก่เกษตรและผู้สนใจ ในการปลูกและขยายพันธุ์ไม้เมืองหนาว ซึ่งมีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดได้
ในระยะยาวยังหมายถึงการช่วยลดการนำเข้าไม้เมืองหนาวจากต่างประเทศ รวมถึงยังมีโอกาสพัฒนาไม้เมืองหนาวในประเทศไทยเป็นสินค้าส่งออกในอนาคต