ขณะที่ ยักษ์ค้าปลีกแต่ละราย มีไบเบิ้ลหรือสูตรสำเร็จที่ยึดถือในการทำเฮ้าส์แบรนด์ทุกครั้ง ก็คือ ใช้คุณภาพนำหน้า ตามด้วยความคุ้มค่าคุ้มราคา และต้องมีในเรื่องของความน่าเชื่อถือ ที่มีแบรนด์ของสโตร์หรือร้านค้าเป็นเรื่องการันตี โดยแต่ละรายจะมีแผนกวิจัยและพัฒนาสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ที่มีการใช้งบเป็น 10 ล้านบาท ทำวิจัยกับผู้บริโภคเพื่อควานหาสิ่งที่เขาต้องการ
เหตุผลในการเลือกที่จะเริ่มต้นทำตลาดกับสินค้าที่มีลอยัลตี้ต่ำๆ อย่างกระดาษทิชชู่ หรือสินค้า Commodity Product ต่างๆ นั้น เป็นเพราะค้าปลีกแต่ละราย ต้องการเจาะเข้าไปในส่วนที่ง่ายที่สุดก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทดลองใช้ และเมื่อเกิดการทดลองใช้แล้วจะทำให้เกิดการรับรู้ถึงคุณภาพของสินค้า การต่อยอดมาสู่สินค้าที่มีลอยัลตี้สูงๆ จึงไม่ใช่เรื่องยาก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงแนะนำตลาด สินค้าเฮ้าส์แบรนด์ส่วนใหญ่ที่เราเห็นจึงเป็นสินค้าที่ง่ายต่อการตัดสินใจซื้อ ขณะที่ในปัจจุบัน ซึ่งผ่านพ้นช่วง “รัน อิน” ไปแล้ว จึงมีการขยับมาที่ตัวที่ยากและหลากหลายมากขึ้น
ด้วยทิศทางของการเติบโตและแนวโน้มในเรื่องของการแข่งขันในตลาดค้าปลีกของบ้านเรา ทำให้ในปัจจุบันเราได้เห็นเฮ้าส์แบรนด์หรือไพรเวท ลาเบล ที่หน้าตาแปลกๆ ไปจากท้องตลาดอาจจะเป็นการอิมพอร์ตเข้ามาวางขาย เพราะนั่นคือการสร้างลอยัลตี้ ที่จำเป็นอย่างยิ่งในยุคของการทำ Retail Branding ที่ต้องขายกันในเรื่องของความแตกต่างที่จับต้องได้แบบลงลึกเข้าไปในหัวใจของผู้บริโภค
เฮ้าส์แบรนด์ จึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ยักษ์โมเดิร์นเทรดใช้ในการกินรวบตลาดแบบครบกระบวนท่า และตอบโจทย์การเป็นพันธุ์อมตะที่ส่งผลกระทบไปทั่วทั้งร้านค้าปลีกและซัพพลายเออร์รายเล็กๆ ที่หนีไม่พ้นผลกระทบจากการเติบโตของโมเดิร์นเทรด
หากมองเข้ามาที่วิวัฒนาการของตลาด จะพบว่า สินค้าเฮ้าส์แบรนด์ เริ่มแพร่หลายอย่างอย่างจริงจังครั้งแรกในยุคของแม็คโครซึ่งเป็นค้าส่งสไตล์แคช แอนด์ แครี่ ที่เข้ามาทำตลาดสินค้าตัวนี้อย่างจริงจัง มีทั้งที่เป็นสินค้าประเภทของใช้และของกิน รวมถึงของใช้ในสำนักงาน ภายใต้แบรนด์ เอโร เซฟแพ็ก และ คิว – บิซ ฯลฯ
แนวคิดในการทำตลาดสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ของแมคโครนั้น จะยึดหลัก 20:80 คือ กลุ่มผู้ซื้อจะมีแค่เพียง 20% แต่ซื้อไปใช้งานกับกลุ่มผู้ใช้ถึง 80% กล่าวคือ กลุ่มผู้ซื้อแม้จะมีจำนวนน้อย แต่ก็ซื้อเป็นจำนวนมาก เพราะนำไปใช้ทีละมากๆ อาทิ กลุ่มโรงแรม ที่ซื้อแชมพูในบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ๆ เพื่อไปแบ่งบรรจุขวดให้แขกที่มาพักใช้ตามห้อง ขณะที่สินค้าเฮ้าส์แบรนด์ของห้างอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบ 80:20 คือ มีกลุ่มคนซื้อจำนวนมากถึง 80% แต่นำไปใช้ในจำนวนไม่มากนัก พวกนี้จะเป็นลูกค้าที่เป็น End Consumer ที่ซื้อไปใช้ในครัวเรือนของตน จึงมีลูกค้าเป็นจำนวนมากแต่การใช้กลับมีวอลุ่มไม่มากนัก