เปิดสูตร 72-18-10
จังหวัดน่านมีพื้นที่ทั้งหมด 7,601,930 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ป่าสงวนตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 6,435,792 ไร่ หรือคิดเป็น 85% ของพื้นที่ทั้งจังหวัดน่าน แต่ในความเป็นจริงตัวเลขในปี 2559 พบว่าพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดน่านลดลงเหลือเพียง 4,564,996 ไร่
เท่ากับว่าพื้นที่ป่าถูกชาวบ้านบุกรุกเข้าไปเพื่อทำการเกษตรถึง 1,870,796 ไร่ หรือประมาณ 28 % ของพื้นที่ป่าสงวนทั้งหมด
ต้องยอมรับว่า ที่แนวคิดรักษ์ป่าน่านในวันแรกสามารถพัฒนามาสู่แนวคิด Nan Sandbox นั้นมาจากประสบการณ์ในการบริการงานภาคธุรกิจของคุณบัณฑูรอย่างแท้จริง
จากแนวคิดที่ขีดเขียนบนแผ่นกระดาษ คุณบัณฑูรได้มีการดึงเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อศึกษาปัญหาและหาทางแก้ไขในรูปแบบ Win - Win คือ ทุกฝ่ายต้องได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่การหักดิบ
จึงเป็นที่มาของการจัดสรรที่ดินแบบ 72-18-10
กล่าวคือ การจัดสรรที่ดินป่าสงวนจังหวัดน่านทั้ง 15 อำเภอ 99 ตำบล 924 หมู่บ้านโดยเฉพาะพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินในเขต ป่าสงวนคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1, 2, 3, 4, และ 5 จะบริหารจัดการพื้นที่เขตป่าสงวนตามสัดส่วนดังนี้
72% คือ พื้นที่ป่าสงวนที่สมบูรณ์ที่เหลือในปัจจุบัน ซึ่งทุกคนจะช่วยกันรักษาป่าต้นน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
18% คือ พื้นที่ทำกินในเขตป่าที่เกษตรกรน่านยินดีฟื้นฟูกลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่โดยรัฐจะอนุญาตให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ส่วนนี้ได้
10% คือ พื้นที่ที่จัดสรรให้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้เต็มที่ (แต่ยังคงเป็นป่าสงวนโดยกฎหมาย)
เรียกว่าคณะทำงานต้องใช้เวลาเกือบทั้งปีในการหาตัวเลขการใช้ประโยชน์ที่ทำกินในเขตป่าทั้งจังหวัดน่าน เพื่อที่จะคำนวณออกมาเป็นตัวเลขที่เหมาะสม เพื่อไปเจรจาทำความเข้าใจกับชาวบ้านในเรื่องที่จะต้องคืนพื้นที่ป่าบางส่วนเพื่อปลูกคืนกลับเป็นต้นไม้ใหญ่